ปัจจุบันความนิยมดื่มกาแฟของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลบริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก Euro monitor International พบว่า มูลค่าตลาดกาแฟไทยเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 8.55 ต่อปี โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาด 34,470 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.34 จำแนกเป็น กาแฟสำเร็จรูปมีมูลค่าตลาดสูงถึง 28,951 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ของมูลค่าตลาดกาแฟในประเทศ และกาแฟสดมีมูลค่าตลาด 5,519 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจที่สร้างกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสและประสบการณ์ของผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงกาแฟที่มีคุณภาพ กลิ่นสัมผัสและรสชาติเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันความนิยมดื่มกาแฟของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลบริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก Euro monitor International พบว่า มูลค่าตลาดกาแฟไทยเติบโตต่อเนื่อง ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 8.55 ต่อปี โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาด 34,470 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.34 จำแนกเป็น กาแฟสำเร็จรูปมีมูลค่าตลาดสูงถึง 28,951 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ของมูลค่าตลาดกาแฟในประเทศ และกาแฟสดมีมูลค่าตลาด 5,519 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจที่สร้างกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงโอกาสและประสบการณ์ของผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงกาแฟที่มีคุณภาพ กลิ่นสัมผัสและรสชาติเพิ่มมากขึ้น
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นับเป็นโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยที่มีพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 70 – 80 ของตลาดกาแฟโลก โดยประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีความสูงระดับน้ำทะเลระหว่าง 1,000 – 2,000 เมตร และอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 15 – 25 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,200 – 1,500 มิลลิเมตรต่อปี และมีการกระจายของฝนอย่างน้อย 5 – 8 เดือนต่อปี ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้เมล็ดกาแฟผ่านกระบวนการสุกที่ยาวนานขึ้น จึงช่วยให้เมล็ดมีรสสัมผัสที่ซับซ้อนของกลิ่นและรสชาติที่เข้มข้นดีกว่ากาแฟที่ปลูกในพื้นที่ต่ำกว่าหรืออากาศหนาวน้อยกว่า เป็นอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันตามพื้นที่และสายพันธุ์
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา 124,484 ไร่ ได้ผลผลิตกาแฟประมาณ 7,992 ตันต่อปี และการปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก เลย แพร่ อุตรดิตถ์ พะเยา แม้ระดับความสูงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟ แต่ยังมีปัจจัยอีกมากที่ส่งผลต่อรสสัมผัสของกาแฟ เช่น กระบวนการคัดเลือกสายพันธุ์ การปลูก การบำรุงรักษา การป้องกันโรคแมลงการเก็บเกี่ยวผลกาแฟ การแปรรูปเมล็ดกาแฟ รวมถึงการชงกาแฟแบบต่างๆ ที่ยังมีรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกมาก
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเล็งเห็นความสำคัญของตลาดกาแฟพิเศษ ที่มีมูลค่าตลาดภายในประเทศประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปีนั้น จะเป็น New S Curve ที่สร้างโอกาสด้านรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่อุปทานสินค้ามูลค่าสูง ทั้งนี้การที่จะสร้างโอกาสใหม่ที่ดีกว่า ต้องมาพร้อมกับความเชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้ใจของผู้บริโภคกาแฟในทุกระดับ ว่าจะได้รับการส่งมอบรสสัมผัส รสชาติของกาแฟที่ดี มีคุณภาพสูงซึ่งมีระบบการควบคุมคุณภาพมาตรฐานและมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ กระบวนการคัดสรรสายพันธุ์จนถึงกระบวนการแปรรูปกาแฟ ทั้งนี้มาตรฐานกาแฟ ของสมาคมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee Association หรือ SCA) อันเป็นสมาคมที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของการเปิดกว้าง การทำงานร่วมกันทั้งเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ นักบาริสต้า และนักคั่วกาแฟ โดย SCA มีกระบวนการยกระดับมาตรฐานทั่วโลก ผ่านวิธีการทำงานร่วมกัน และพัฒนาเป็นข้อกำหนดมาตรฐานของ Specialty Coffee Association (SCA) ซึ่งจะมีหลักการประเมินและให้คะแนนกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา โดยกาแฟที่จะเป็น Specialty coffee ได้นั้น จะต้องมีคุณลักษณะคุณภาพของสารกาแฟ (กาแฟที่ยังไม่ได้คั่วหรือ green beans) จะต้องไม่มีข้อบกพร่องของกาแฟ (Defect Coffee)ที่ส่งผลต่อรสชาติของกาแฟ หรือมีข้อบกพร่องของกาแฟไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และได้คะแนนคัปปิ้ง (การทดสอบรสชาติกาแฟ) โดย Q grader ตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป (จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน)
เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพ มาตรฐานกาแฟสายพันธุ์อะราบิกาของประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตรและสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) จึงกำหนดให้พื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์อะราบิกา บ้านปางปูเลาะ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ Sand Box การริเริ่ม ศึกษา ออกแบบ ระบบและสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนให้กาแฟอะราบิกา บ้านปางปูเลาะ พะเยา เข้าสู่มาตรฐานกาแฟ ของสมาคมกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee Association หรือ SCA) โดยริเริ่ม
1) กิจกรรมตรวจแยกสายพันธุ์กาแฟ (Plant DNA Fingerprint)
2) กิจกรรมวิเคราะห์ประเมินศักยภาพของพื้นที่ (การระบุพิกัด ดิน น้ำ อากาศ อุณหภูมิ)
3) กิจกรรมพัฒนาและจัดทำคู่มือการปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐานกาแฟของ SCA
4) กิจกรรมพัฒนาทักษะเจ้าหน้าทีี่ผู้ตรวจสอบให้คำปรึกษาและสร้างความเชื่อมั่น
5) กิจกรรมพัฒนาทักษะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟเพิ่มปรับเพิ่มผลผลิตภาพการผลิต
6) กิจกรรมส่งเสริมเยาวชนและยุวเกษตรกรบาริสต้า
7) กิจกรรมป้องกัน ควบคุม กำจัดโรค แมลง ศัตรูกาแฟ
8) กิจกรรมสร้างคลัสเตอร์กาแฟปางปูเลาะ เพื่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด
9) กิจกรรมบ่มเพาะพัฒนากาแฟอะราบิกา บ้านปางปูเลาะเข้าร่วมการประกวดกาแฟพิเศษ
ในปี 2568 เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักและเกิดประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภคในวงกว้างซึ่งการกำหนดพื้นที่ Sand Box Collaboration Connect Consortium ณ บ้านปางปูเลาะ มีเป้าประสงค์เพื่อศึกษาทดสอบกระบวนการทำงานร่วมกันในระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และชุมชนท้องที่ท้องถิ่นที่จะเกิดผลลัพธ์ที่ดี กล่าวคือ กาแฟอะราบิกา บ้านปางปูเลาะ พะเยา จะได้รับการประเมินและได้ค่าคะแนนตามข้อกำหนดมาตรฐานของสมาคมกาแฟพิเศษ SCA มีเอกลักษณ์ของกลิ่นสัมผัสและรสชาติ ซึ่งจะเป็นชุดข้อมูลที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคกาแฟพิเศษ และมีความพึงพอใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าเพื่อได้ดื่มบริโภค อีกทั้งจะสร้างมูลค่าเพิ่มและเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟสามารถได้รับส่วนแบ่งจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้น สร้างรายได้และเกิดเศรษฐกิจชุมชนที่หมุนเวียนเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรองรับระเบียบการค้าภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก อันเป็น New S Curve และเป็นส่วนหนึ่งของพะเยาโมเดล ก่อนนำไปขับเคลื่อนในภาพใหญ่และพื้นที่จังหวัดอื่นต่อไป