เมื่อวันที่ 20 – 21 สิงหาคม 2567 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา จัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับเขต (Regional Workshop : RW) ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยการบูรณาการโครงการร่วมกับอีก 2 โครงการ คือ การประชุมเชิงปฏิบัติการติดตามผลการดำเนินงาน โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การขับเคลื่อนงานวิสาหกิจชุมชน และงานอารักขาพืชในแปลงใหญ่ภาคใต้ และประชุมเชิงปฏิบัติการ Core Team เพื่อเพิ่มศักยภาพกระบวนการทำงานด้านไม้ผลอัตลักษณ์ภาคใต้ ผู้เข้าร่วมเวทีประกอบด้วย เกษตรจังหวัด ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 250 คน ณ โรงแรมบีพี สมิหลา บีช อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting โดยได้รับเกียรติจากนายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธาน
นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เน้นขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า การทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในภาคการเกษตร รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และขับเคลื่อนการดำเนินงาน BCG Model ยกระดับเจ้าหน้าที่สู่การเป็นมิสเตอร์สินค้าเกษตร การให้บริการของศูนย์เกษตรพิรุณราช การรับมือภัยแล้งหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสมดุล ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการขับเคลื่อนผ่านกลไกระบบส่งเสริมการเกษตร (T&V System) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติงานในพื้นที่ การเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานส่งเสริมการเกษตร ทั้งหน่วยงานภายในกรมและกับหน่วยงานวิชาการหรืองานวิจัยอื่น ๆ เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร
กิจกรรมการจัดเวทีสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง การระบาดของแมลงศัตรูพืช โรคพืช การพยากรณ์การระบาด การบริหารจัดการ แนวทางการป้องกันการระบาด การแก้ไขปัญหาระหว่างการระบาด และการฟื้นฟูพื้นที่หลังการระบาด โดยวิทยากรจากกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร การบรรยายเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีผลต่อการทำงานส่งเสริมการเกษตร และสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง รุกล้ำพื้นที่น้ำจืด การปรับตัวของเกษตรกร และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยวิทยากรจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก การแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร ปี 2567 จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1. การบริหารงานสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตร กลุ่มที่ 2. ความเสี่ยงในเรื่องพฤติกรรมการเรียนรู้ของเกษตรกร (Farmer Behavior) กลุ่มที่ 3. การประเมินเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เรื่องการเพาะปลูก และการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตร และกลุ่มที่ 4. การนำระบบส่งเสริมการเกษตรไปขับเคลื่อนงานในพื้นที่