นายวุฒิศักดิ์ เพชรมีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ตามที่สมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานวันแม่แห่งชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2519 โดยถือวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นวันแม่แห่งชาติ และได้ถือเป็นนโยบายการจัดงานวันแม่แห่งชาติเป็นประจำทุกปีติดต่อกันตลอดมา นับจนถึงปี 2567 เป็นเวลา 49 ปีมาแล้ว วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันแม่แห่งชาติ เพื่อเทิดทูนและเผยแพร่พระเกียรติคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงเป็นแม่ของแผ่นดิน และเพื่อเผยแพร่พระคุณและบทบาทของแม่ที่มีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ และเพื่อยกย่องแม่ดีเด่นแห่งชาติและลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่ กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในการจัดงานวันแม่แห่งชาติ คือ การคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อยกย่องและเผยแพร่เกียรติคุณผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นแม่ดีเด่นแห่งชาติทั้งในส่วนกลาง และในส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นแบบฉบับที่ดีให้ปรากฏแก่สาธารณชน และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งของสตรีผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งการประกวดแม่ดีเด่นแห่งชาติ แบ่งเป็น 6 ประเภท คือ 1. แม่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม 2. แม่ผู้มีความมานะอดทนขยันหมั่นเพียร 3. แม่ของลูกผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ 4. แม่ผู้เป็นเกษตรกร 5. แม่ของลูกผู้เสียสละ และ 6. แม่ผู้เป็นอาสาสมัครและแม่ของลูกที่เป็นอาสาสมัคร
ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร รับผิดชอบในส่วนของการคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประเภทแม่ผู้เป็นเกษตรกร โดยพิจารณาคัดเลือกจากแม่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนเป็นที่ยอมรับ มีความซื่อสัตย์สุจริต อบรมเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเอาใจใส่ ด้วยความมานะอดทน ทำให้ลูกได้รับการศึกษา มีอาชีพที่สุจริต มีความประพฤติดี และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม โดยได้ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัลจำนวน 15 คน และได้เข้ารับพระราชทานรางวัลแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ในส่วนของผู้ได้รับรางวัลจากภาคใต้จำนวน 3 ท่าน ได้แก่
- นางนงเยาว์ พรหมประทีป อายุ 62 ปี จากจังหวัดชุมพร ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 17 ตําบลนาพญา อําเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่หลากหลาย ประกอบด้วย การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง สร้างรายได้ให้กับครอบครัว และขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของผู้ที่สนใจ โดยเป็นแปลงเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน และยังเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านการเกษตรและบ้านเกษตรสมบูรณ์ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นบ้านเกษตรสมบูรณ์ต้นแบบระดับจังหวัด และเป็นแกนนำในการรวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ทำกิจกรรมหลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง จนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2567 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 บ้านเกษตรสมบูรณ์ดีเด่นระดับจังหวัดในปี 2566
- นางศรีสุดา มากชูชิต อายุ 60 ปี จังหวัดระนอง ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 2 ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ประกอบอาชีพเกษตรกรรมโดยการทำนาเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ทั้งปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ในด้านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านการเกษตรและการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร รวมกลุ่มเกษตรกรเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิต การพัฒนาคุณภาพ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในครัวเรือนและชุมชน ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของเกษตรกรและผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น 1.) อาสามสัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) 2.) คณะกรรมการศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล (ศบกต.) 3.) คณะกรรมการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 4.) คณะกรรมการตรวจสอบการแจ้งความเสียหายด้านพืช กรณีประสบภัยธรรมชาติ 5.) ประธานศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ตำบลท่าหิน 6.) เกษตรกรต้นแบบ ศพก. เครือข่ายด้านดินปุ๋ย 7.) รองประธานกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวท่า 8.) คณะกรรมการศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ตำบลท่าหิน 9.) คณะกรรมการศูนย์ข้าวชุมชน
- นางอทัยรัตน์ สมผลึก อายุ 62 ปี จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ที่ 10 ตำบลลำนาว อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีการทำการเกษตรที่หลากหลาย ประกอบด้วยการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพจนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ด้านประมง ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บำเพ็ญประโยชน์และช่วยเหลือสังคมอย่างสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในชุมชน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชน เพื่อให้เกิดการร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ ของชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สามัคคี และพึ่งพาตนเองได้ เป็นวิทยากรให้ความรู้ในด้านการเกษตร และการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้ดูงานของผู้ที่สนใจ รวมกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร จนได้รับรางวัลชนะเลิศ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นระดับเขต ประจำปี พ.ศ. 2567 อนุรักษ์พันธุกรรมพืชหายาก “ชกพันธุ์ขี้หนู” เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากชก และผลักดันให้บ้านควนชก ได้เป็น “หมู่บ้านนวัตกรรมจากต้นชกแบบครบวงจร”