กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานวิสาหกิจชุมชน

ปัจจุบันประเทศไทยมีวิสาหกิจชุมชน ที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่กว่า 75,000 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และมากกว่าร้อยละ 50 เป็นวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในภาคธุรกิจเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศ

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าด้วยพลวัตการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม ที่มาพร้อมกับความคาดหวังของเกษตรกรที่ซับซ้อน หลากหลายเพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ความรู้ใหม่ ๆ มีมากขึ้น และให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนไป การขับเคลื่อนภาคธุรกิจเกษตร ผ่านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จึงเป็นอีกโจทย์ที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องยกระดับวิสาหกิจชุมชน สู่การประกอบธุรกิจตามหลักความยั่งยืน โดยที่นักส่งเสริมการเกษตร ต้องมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) พร้อมปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและให้ทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนใหม่ได้ทันท่วงทีและต้องสามารถให้คำปรึกษา และสร้างความเชื่อมั่นว่าธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนจะสามารถบริหารองค์กรให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้บริโภค เกิดรายได้ต่อองค์กรและชุมชน มีการสะสมกำไรหรือทุนที่สร้างคุณค่าและความมั่นคงของธุรกิจ ประกอบไปด้วย 7 แนวทาง ดังนี้

1. ความรู้ ความเข้าใจและสามารถวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนโอกาสทางธุรกิจเพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม เช่น กลยุทธ์ในสภาวะเศรษฐกิจเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น, แนวโน้มความต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, กฎหมายระเบียบใหม่ เช่น ข้อกำหนดค่าความเค็ม ความหวานของสินค้า เป็นต้น

2. ความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน องค์กรเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย การปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ซื่อสัตย์ ยุติธรรม โปร่งใส รับผิดชอบและตรวจสอบได้) เพื่อเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง และสามารถบริหารความเสี่ยงได้ทันการณ์ ลดโอกาสความผิดพลาดทางธุรกิจ

3. ความรู้ ความเข้าใจด้านการเงินและการบัญชี รวมถึงการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อสามารถวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของธุรกิจ และข้อเท็จจริงของธุรกิจ เพื่อใช้ตัดสินใจทางการเงินได้อย่างมีเหตุผล  และสามารถมองเห็นปัญหาทางการเงินและปัญหาอื่นๆ ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาการขาดสภาพคล่อง ปัญหาการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนต่ำ
ปัญหาหนี้สิน เป็นต้น

4. ความรู้ ความเข้าใจระบบการบริหารงานและประเมินผลทั่วทั้งองค์กร เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) ที่สามารถวัดผลด้านการเงินและกำไรสุทธิ ด้านคุณค่าของสินค้าและบริการที่จะส่งมอบให้ลูกค้า ด้านการพัฒนากระบวนการภายใน และด้านการเรียนรู้พัฒนาบุคลากร ซึ่งแปลงตัวชี้วัดสู่ทุกจุดขององค์กรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานของแต่ละฝ่ายงานและแต่ละคน

5. ความรู้ ความเข้าใจวิธีการและกระบวนการผลิตที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่นำไปสู่การตรวจวัดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

6. การสื่อสารสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยข้อมูล สถิติ ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนสามารถแสวงหาแนวทางป้องกันหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้วยหลักวิชาการและหรือเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อแก้ ป้องกันพัฒนาความท้าทายใหม่ที่ซับซ้อนและไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้หมดสิ้นไปด้วยวิธีการแบบเดิม

7. ความสามารถที่จะพัฒนากระบวนการงานบริการ เช่น งานบริการประสานงาน ช่วยเหลือส่งต่องานอนุมัติ อนุญาต ตามกฎหมายระเบียบของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวของกับการพัฒนาองค์กรและพัฒนาสินค้าและบริการงาน ประสานเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงิน งานบริการข้อมูล ความรู้ทางวิชาการด้านการเงินการบัญชี ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการผลิตการตลาด ด้านการกำกับดูแลและการนำองค์กรที่ดี ตลอดจนงานบริการตามมาตรการส่งเสริมสนับสนุนตามที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด

การเปลี่ยนแปลงจะต้องเริ่มให้เกิดการปรับตัว เพื่อยกระดับให้วิสาหกิจชุมชนเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร วิสาหกิจชุมชน รวมถึงองค์กรเกษตรกร ที่อยู่ในการดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรเกิดความภูมิใจที่ได้ทำเพื่อสังคม เพราะธุรกิจในปัจจุบันไม่ใช่แค่ธุรกิจแต่ต้องคำนึงต่อสังคมด้วย