บริบทโลกยุคใหม่เปลี่ยนผ่านจาก Disruptive World เข้าสู่ VUCA World สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ทำให้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน องค์กรทั่วโลกปรับตัว หน่วยงานต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือ ให้ทันสถานการณ์ และต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางเพื่อลดความไม่แน่นอนต่างๆ ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอย่างรวดเร็ว กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีนักส่งเสริมการเกษตร อยู่ทุกพื้นที่ ดังนั้นการรับมือการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องท้าทายที่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรต้องเปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “เป็นความท้าทายที่ผมจะต้องนำองค์กรขนาดใหญ่ ดูแลนักส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กว่า 10,000 คน มีหน่วยงาน 1,015 หน่วยงาน ในกำกับ มีหน่วยงานอำนวยการในพื้นที่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร 6 แห่ง มีสำนักงานเกษตรอำเภอ 882 แห่ง และสำนักงานเกษตรจังหวัด 77 แห่ง ศูนย์ปฏิบัติการ 50 ศูนย์ รวมถึงดูแลเกษตรกรอีกกว่า 6 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรดูแลกว่า 148 ล้านไร่ นับเฉพาะในฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ดูแลเครือข่ายเกษตรกร 8 เครือข่ายหลัก ได้แก่ เกษตรแปลงใหญ่ Smart Farmer Young Smart Farmer วิสาหกิจชุมชน ยุวเกษตรกร กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ทั้งหมดเป็นเพียงภาพใหญ่และแน่นอนว่าในโลกยุควูก้า ภาคเกษตรยังต้องเจอกับ ความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน รวมถึงรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงสู่การบริโภคอาหารสุขภาพและโภชนาการที่ดี รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรื่องต่างๆ คือความท้าทายของภาคการเกษตร ที่ล้วนส่งผลให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ต้องปรับตัวแทบทั้งสิ้น การสร้างความเข้าใจในให้เกษตรกร ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงองค์กร จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องทำงานควบคู่กัน ต้องให้นักส่งเสริมการเกษตรมีทั้งทักษะการทำงาน ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการเงิน การลงทุน ต้องเรียนรู้และปรับตัว นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมพัฒนาทักษะให้สามารถใช้ประโยชน์จากพฤกษศาสตร์ (Plant Science) เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) และ เทคโนโลยีหมุนเวียน (Circular Technology) เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูง และเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรมีรายได้ 3 เท่า ใน 4 ปี
นายพีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผมให้ความสำคัญกับการพัฒนาพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital)
ต้องมองทั้งการมีส่วนร่วมเกษตรกรและนักส่งเสริมการเกษตร จะต้องเดินคู่กัน เรียนรู้การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Science Technology and Innovation) ต้องอ่านข้อมูลได้ ใช้ข้อมูลเป็น ซึ่งเป็น สิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องช่วยสร้างทักษะให้เกิดการเรียนรู้กับเกษตรกร โดยได้จัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับเกษตรกร และนักส่งเสริมการเกษตร เช่น Growth Mind Set & Anti Fragile คือ มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ ความพยายาม และการฝึกฝน การบริหาร ทางการเงินและบัญชี การลงทุนในตลาดทุน เกษตรกรต้องมีการวางแผนการเงิน เพื่อให้สามารถทราบรายได้ รายจ่ายตลอดปี และวางแผนการเงิน สอดคล้องกับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวให้ผลผลิต เรียนรู้และเข้าใจตามช่วงอายุ ของเกษตรกร มีการเก็บออม และนำเงินออมไปลงทุนเพื่อการออมต่างๆ จะช่วยให้ลดความเสี่ยงด้านปัญหาการเงินในอนาคต นักส่งเสริมการเกษตร สามารถแนะนำเกษตรกรให้เข้าถึงแหล่งช่องทางเงินทุนต่างๆ ของรัฐได้ และต้องมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ การปรับตัวให้เหมาะสมกับปัจจุบันและอนาคต สามารถพลิกฟื้นจากปัญหาได้เร็วและดีกว่าเดิม มุ่งสู่ ESG : Environmental, social, corporate governance รวมถึงต้องหมั่นเพิ่มเติมความรู้จากแหล่งต่างๆ ดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งความพอประมาณ ความพอดี ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ความมีเหตุผล พิจารณาจากสาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาควบคุมการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล นอกจากนี้ยังต้องมีเงื่อนไขความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ และมีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต ส่งต่อของให้ผู้บริโภคด้วยความตระหนักถึงความเป็นธรรม และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต รวมถึงการจัดการผลผลิต การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Logistics Supply Chain management) การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Management and Data Analytics) จะต้องวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง เพื่อควบคุมคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ ตามมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานต่างๆ สร้างความประทับใจให้ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ รวมถึงเรียนรู้การทักษะด้านการตลาดและการตลาดแม่นยำ การจัดการแม่นยำ การเก็บเกี่ยวแม่นยำด้วย
นอกจากนี้นักส่งเสริมการเกษตร จะต้องเข้าใจการจัดระเบียบโลกใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องรับเงื่อนไขต่างๆ และเป็นเรื่องสำคัญที่เกษตรกรต้องเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และการรับรองตัวเองภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น การติดฉลากคาร์บอน เป็นการแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) หรือเตรียมรองรับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulations: EUDR) หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับลดการผลิตและการบริโภคสินค้าโภคภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการตัดไม้ทำลายป่า รวมถึงการลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศไทยเข้าร่วมข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) เป็นต้น
ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่เพียงแต่เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น นักส่งเสริมการเกษตรเองก็ต้องทำงานควบคู่กับเกษตรกรให้บริการ ให้คำแนะนำ เรียนรู้เครื่องมือ เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ อัพเดทข้อมูลต่างๆ ให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ digital technology และกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ด้วยแนวทางตลาดนำ นวัตกรรมเสริม การลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็น 3 เท่า ภายในปี 2570 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าว