ปัจจุบัน ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ยังคงสถานะเป็นเกษตรกร ประมาณ 6.9 ล้านครัวเรือน และเป็นสมาชิกครัวเรือน จำนวน 11 ล้านราย รวมทั้งหมด 17.90 ล้านราย คิดเป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 147 ล้านไร่
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกร เป็นเรื่องจำเป็น ที่เกษตรกรทุกคนต้องปฏิบัติ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถขึ้นทะเบียนเกษตรกรด้านพืชกับกรมส่งเสริมการเกษตรได้ ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ เป็นเกษตรกรผู้มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะ ต้องผู้ปลูกพืช ทำไร่นาสวนผสม ทำนาเกลือสมุทร หรือเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ และต้องรับรองข้อมูลของตนเองตามความเป็นจริงทุกครั้งที่มาแจ้ง
เกษตรกรควรขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรอย่างสม่ำเสมอให้เป็นปัจจุบันทุกรอบการเพาะปลูก จะมีโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากโครงการคุ้มครองทางสังคมของทางภาครัฐ การช่วยเหลือเมื่อเกิดกรณีภัยธรรมชาติ ภาครัฐเองก็จะมีข้อมูลสำคัญ เช่น พื้นที่การเพาะปลูก เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนและวิเคราะห์การดำเนินงานของภาครัฐ การจัดการด้านการผลิตและการตลาด การส่งเสริม และสนับสนุน การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วย
“เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จะได้รับหนังสือสมุดทะเบียนเกษตรกร หรือสมุดเล่มเขียว และในอนาคตจะพัฒนาเป็นสมุดเขียวดิจิทัล อยู่ใน Web Application : e-Form และ Mobile Application : “ Farmbook ” ,
“ ทางรัฐ ” และ “ ThaID ” ที่มีข้อมูลเกษตรกร ชนิดพืชที่ปลูก พื้นที่เพาะปลูก ระยะเวลาการปลูก ระยะเวลาคาดว่าจะเก็บเกี่ยว และผลผลิตแต่ละปี ครบถ้วน ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มในการยกระดับอาชีพเกษตรกร
ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนสามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกร โดยสามารถแจ้งขอขึ้นทะเบียนเกษตร ผ่าน e-Form ในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมการเกษตรหรือ ผ่านเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง หรือ จุดนัดหมายที่สำนักงานเกษตรอำเภอนั้น ๆ และสามารถปรับปรุงข้อมูลการเกษตรด้วยตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน Farmbook
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ในการรวมบริการต่าง ๆ ของภาครัฐสำหรับประชาชนผ่าน “แอปพลิเคชัน ทางรัฐ” และ “แอปพลิเคชัน ThaID” ของกรมการปกครอง เพื่อ บูรณาการใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เพื่อความสะดวกของเกษตรกร ให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งบริหารจัดการ และบำรุงรักษาฐานข้อมูลหลัก และระบบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนจะดำเนินการพัฒนาการให้บริการแจ้งเตือน (Personalized Notifications) รายบุคคล เช่น อุณหภูมิ อากาศ ความชื้น ดิน ปุ๋ยในแอปพลิเคชัน Farmbook การแจ้งการเกิดภัยพิบัติด้วยตัวเกษตรกรเอง และการจัดทำประวัติเกษตรกรดิจิทัล ในปี 2568 เพื่อให้มีข้อมูลถูกต้องครบถ้วนทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน การขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเกษตรกรเอง และภาครัฐ
โดยเฉพาะเกษตรกร จะสามารถนำข้อมูลไปวางแผนการทำการเกษตรฤดูกาลถัดไปแล้ว เข้าถึงสิทธิการคุ้มครองทางสังคมด้านเกษตร อาทิ การช่วยเหลือภัยพิบัติด้านพืช การเข้าร่วมการประกันภัยพืชผล การเข้าร่วมโครงการมาตรการภาครัฐอื่น ๆ และการพัฒนาความรู้และทักษะด้านอาชีพ เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการหรือมาตรการ นั้น ๆ
“ประเทศไทยมีความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติ ที่มีเหตุปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง อุณหภูมิสูง ที่จะมีความถี่และความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตรเสียหาย การขึ้นทะเบียนเกษตรกรก่อนเกิดภัยธรรมชาติ จะได้รับการช่วยเหลือจากทางภาครัฐได้อย่างทันท่วงที ที่ผ่านมารัฐบาลได้ การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร เช่น ผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช มากกว่า 4 แสนครัวเรือนต่อปี วงเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านบาท, โครงการประกันภัยพืชผล มากกว่า 1 แสนครัวเรือนต่อปี วงเงิน 1 พันล้านบาท, โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 4.6 ล้านครัวเรือนต่อปี วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น”
กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรไทยทุกท่านที่ทำการเพาะปลูกแล้ว ได้แจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรทุกครั้งที่มีการเพาะปลูก ให้ตรงตามความเป็นจริงและปัจจุบัน เพื่อรักษาสิทธิ์และโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ที่ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่ง หรือเกษตรกรสามารถดำเนินการได้เองผ่านระบบออนไลน์ ผ่านระบบ e-Form ที่เว็บไซต์ efarmer.doae.go.th และแอปพลิเคชัน Farmbook
“ขึ้นทะเบียนเกษตรกร รักษาสิทธิ์ รับโอกาสและการช่วยเหลือจากภาครัฐ”