ไทยติดอันดับ 1 ใน 8 ประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดของโลก ความเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ สร้างผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ผลผลิตเสียหาย ทั้งจากภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วม ขณะที่การแข่งขันเพื่อเข้าสู่ยุคคาร์บอนต่ำเริ่มทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อการรักษาโครงสร้างการผลิตที่มีอยู่ กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จึงต้องปรับแผนรับมือ และรักษาการเติบโตของภาคเกษตรไทยเอาไว้ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แนวทางการพัฒนาสู่ยุคคาร์บอนต่ำเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ เพื่อปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในระยะยาว และการวางแผนเพื่อจัดการและเตรียมการรับมือการเปลี่ยนผ่านไปยุคคาร์บอนต่ำ ที่จะสามารถช่วยประเทศไทยลดต้นทุนที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศลงได้อย่างมาก โดยยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้
สำหรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมรับมือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์วางเป้าหมายไว้ 2 ด้าน ได้แก่ การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ การลดผลกระทบหรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร คือการปรับวิธีการผลิตการเกษตรให้เหมาะสม เช่น การปรับวิธีการด้วยเทคโนโลยี 4 ป. +1 IPM โดยการปรับหน้าดิน ให้น้ำเปียกสลับแห้ง ใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับค่าดินที่ได้จากการวิเคราะห์ค่าดิน แปรสภาพฟางและตอซัง การใช้วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน และการลดการเผาในพื้นที่เกษตร
ทั้งนี้ แต่ละกิจกรรมการผลิตสินค้าเกษตรจะมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาแตกต่างกัน ทั้งในแง่ชนิดก๊าซและปริมาณ เช่น กิจกรรมการปลูกข้าวจะมีการปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด รวมถึงก๊าซไนตรัสออกไซด์จากกิจกรรมการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในภาคเกษตร เป็นต้น
กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนการลดผลกระทบหรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการจัดตั้งศูนย์ประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติ (ด้านเศรษฐกิจ ด้านโรคแมลงศัตรูพืช และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก) ระดับส่วนกลาง เพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวทางแผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
และสอดคล้องตามเป้าหมายที่ประเทศกำหนด รวมทั้งดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น โดยการรณรงค์ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการเผาแปลงเพาะปลูกไปใช้วิธีอื่น รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบว่าเกษตรกรที่ไม่ให้ความร่วมมือจะถูกตัดสิทธิการได้รับความช่วยเหลือชดเชยต่างๆ จากภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด และข้อจำกัดที่อาจเกิดขึ้น
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ ด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.2566-2570 มีการวางเป้าหมาเพื่อให้ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Carbon Emission) ซึ่งมีประเด็นการพัฒนาที่กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมเป็นหน่วยงานดำเนินการ เช่น
1.ส่งเสริมการทำประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร เริ่มดำเนินการในพืช 2 ชนิด คือ ข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 2.ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของเกษตรกร โดยดำเนินการผ่านโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง โครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการประหยัดทรัพยากรและลดการสูญเสีย (Food Loss) เป็นต้น
3.ส่งเสริมการผลิตพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับประเภทของดินและความเพียงพอของน้ำ ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีหมุนเวียน ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนส่งเสริมการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ซึ่งการใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการ “4 ถูก” คือ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลา ถูกวิธี เป็นการใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืช การใช้ปุ๋ยแบบผสมผสานทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง โดยดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) จำนวน 882 ศูนย์ทั่วประเทศ และมีแอพพลิเคชั่น “รู้ดินรู้ปุ๋ย” เป็นตัวช่วยแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและตามความต้องการของพืชได้ง่ายขึ้น ส่งเสริมการใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุ และเพิ่มการตรึงและดูดใช้ธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจน
4.ส่งเสริมสนับสนุนการลดการเผาเพื่อเก็บเกี่ยวและจัดการแปลงด้วยการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ดำเนินการศึกษาและทดสอบเทคโนโลยีและรูปแบบการปรับตัวของเกษตรกร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การไม่เผาในพื้นที่การเกษตร อาทิ การทดสอบเทคโนโลยี และรูปแบบการนำแนวทาง 3R Model มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร และการทดสอบระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าข้าวโพดอาหารสัตว์เพื่ออากาศสะอาดร่วมกับภาคเอกชนผู้รับซื้อ รวมถึงการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่การเกษตรระดับอำเภอและระดับตำบล ซึ่งดำเนินการแล้ว 4,857 ชุด ออกปฏิบัติการกว่า 8,289 ครั้ง
นายพีรพันธ์ กล่าวอีกว่า นับเป็นโอกาสและความท้าทายที่กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยส่งเสริมพัฒนาทักษะเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมูลค่าสูงและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก ภาคเกษตร ด้วยการทำเกษตรที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Smart Agriculture)
“ภารกิจท้าทายของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการมุ่งพัฒนาเกษตรกรให้สามารถใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ด้านพืช เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีหมุนเวียน จะช่วยให้ประเทศไทยรวมทั้งภาคเกษตร สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement 2015) ซึ่งประเทศไทยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30-40% ภายในปี 2573 และพร้อมบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไป”