การยกระดับภาคการเกษตรคืออีกหนึ่งภาระกิจของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเตรียมพร้อมให้กับเกษตรกรที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโลกใหม่ในทุกบริบท ด้วยการวางแผนเชิงเกษตรที่แม่นยำ เพื่อก้าวสู่เกษตรมูลค่าสูง เป้าหมายเพื่อเพิ่มรายให้เกษตรกร 3 เท่าใน 4 ปี
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทุกมิติด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม และสังคม ทั้งความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ขาดแคลนแรงงาน รวมถึงรูปแบบการบริโภค คือความท้าทายของภาคการเกษตร เกษตรกรต้องจัดการฟาร์มหรือแปลงเกษตรของตนอย่างถูกต้อง เพื่อยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการให้เกษตรกรมีรายได้ 3 เท่าใน 4 ปี
เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เกษตรกรที่จะเข้าสู่การทำเกษตรมูลค่าสูง จะต้องเข้าใจและมีกลยุทธ์ที่นำไปสู่การปฏิบัติใน 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 การจัดการพื้นที่แปลงเกษตร เป้าหมายคือปรับเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Improve Productivity) เกษตรกรจะต้องเข้าใจพื้นที่และสามารถจัดการพื้นที่การเกษตรของตนเองได้ โดยต้องออกแบบวางผังแปลงให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ ลดการใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์และแรงงาน ทำให้ต้นทุนต่อไร่ลดลง เกษตรกรจะต้องรู้จักพืชที่จะปลูก เช่น พืชต้องการแสงแดดมาก หรือพืชที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษ จะปลูกในตำแหน่งไหน รวมถึงเกษตรกรควรทำความรู้จักดินในพื้นที่แปลงปลูก เช่นเดียวกับน้ำ ควรวิเคราะห์ความต้องการใช้น้ำตลอดทั้งปี
ส่วนที่ 2 เกษตรกรต้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต้องอ่านข้อมูลได้ ใช้ให้เป็น ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องช่วยสร้างทักษะให้เกิดการเรียนรู้กับเกษตรกร ในปี 2567 นี้ ได้จัด อบรมหลักสูตรต่างๆ ให้กับเกษตรกร เช่น Growth Mind Set & Anti Fragile มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ ความพยายาม และการฝึกฝน และเมื่อล้มเหลวจะพยายามมากขึ้น ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญต่อการประกอบธุรกิจ ทักษะนี้จะช่วยให้เกษตรกรรับมือกับเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น เทคโนโลยีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะทำให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตและควบคุมคุณภาพได้
นอกจากนี้เกษตรกรควรมีการวางแผนการเงิน เพื่อให้สามารถทราบรายได้ รายจ่ายตลอดปี และวางแผนการเงิน สอดคล้องกับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวให้ผลผลิต เรียนรู้และเข้าใจตามช่วงอายุของเกษตรกร
ส่วนที่ 3 การจัดการผลผลิต การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล เกษตรกรต้องวางแผนการผลิตตั้งแต่ต้นทาง เพื่อควบคุมคุณภาพ ให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้ ตามมาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานต่างๆ สร้างความประทับใจให้ผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำ รวมถึงเรียนรู้การทักษะด้านการตลาดและการตลาดแม่นยำ การจัดการแม่นยำ การเก็บเกี่ยวแม่นยำอีกด้วย
ปัจจุบัน กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนแปลงเกษตรกรเข้าสู่เกษตรมูลค่าสูง จำนวน 46 แปลง โดยมีแปลงนำร่อง 11 แปลง ใน 9 จังหวัด ได้แก่ แปลงใหญ่กล้วยไม้ จังหวัดสมุทรสาคร แปลงใหญ่หน่อไม้ฝรั่งจังหวัดขอนแก่น แปลงใหญ่กาแฟ จำนวน 3 กลุ่ม 3 จังหวัด น่าน แม่ฮ่องสอน พะเยา แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอม จำนวน 2 กลุ่ม 2 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี และสมุทรสงคราม และแปลงใหญ่ลำไย จำนวน 4 กลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำพูน
ซึ่งจากแปลงนำร่อง จำนวน 11 แปลง ในพืช 5 ชนิด นักส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมวิเคราะห์และประเมินความเหมาะสมทางกายภาพและชีวภาพเพื่อวางแผนร่วมกับเกษตรกร ทั้ง 11 แปลง เช่น แปลงใหญ่กล้วยไม้สมุทรสาคร ได้ทำการทดสอบคุณภาพของน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ พบว่าต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสมกับพืชก่อน
ซึ่งนักส่งเสริมการเกษตรได้ประสานหน่วยงานเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับเกษตรกร ส่งเสริมวิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานด้วยวิธีกล โดยใช้แผ่นกับดักกาวเหนียวช่วยลดศัตรูทางธรรมชาติ การเพิ่มช่องทางจำหน่าย โดยอยู่ระหว่างให้เกษตรกรประเมินปริมาณผลผลิตต่อวัน และต้นทุน เพื่อให้สามารถจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อได้ ”