ชูแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันหนุนรายย่อยเข้าถึงเครื่องจักรกล

กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนรายย่อยเข้าถึงเครื่องจักรกลทางการเกษตร ในราคาสมเหตุสมผล ตัดปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดันรายได้ เพิ่ม 3 เท่าตามเป้า 4 ปี

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนการรวมแปลงและเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงบริการเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในราคาที่สมเหตุสมผล ส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่ ตามนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สู่เป้าหมายสร้างรายได้ของเกษตรกรให้เพิ่มเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี

ทั้งนี้ การสนับสนุนรายย่อยเพื่อเข้าถึงเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรสมัยใหม่ กรมส่งเสริมการเกษตรจะมีการพัฒนาบุคลากรทางด้านความรู้ ทักษะ เทคนิคในพื้นที่ และสนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร และให้คำปรึกษาแก่เกษตรกรข้างเคียงได้ รองรับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างเพียงพอ

รวมถึงพัฒนาศักยภาพการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรในชุมชน และผู้ประกอบการทั่วไปที่ดำเนินธุรกิจการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรในชุมชน เพื่อให้มีความพร้อมทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะทางเทคนิคและการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถลดต้นทุนปัจจัยการผลิตและเพิ่มรายได้สุทธิให้กับเกษตรกร ผ่านการถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการกลุ่มเครือข่าย การใช้เทคโนโลยีการเกษตรเพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยวิธีการเช่าเครื่องจักรแทนการลงทุนจัดซื้อเครื่องจักร และส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรได้เอง

จากนโยบายกีดกันการใช้แรงงานสัตว์ รวมถึงการบริโภคที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาวะขาดแคลนแรงงาน และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งกฎระเบียบมาตรฐานสินค้าที่ต้องยกระดับกระบวนการผลิตเป็นเกษตรแม่นยำ Precision Farming

รวมถึงแนวโน้มตลาดที่ทำให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ส่งผลให้ต้องมีการนำเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น

ทั้งนี้ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรปี 2566/67 เกษตรกรแจ้งขึ้นทะเบียน จำนวน 6,903,587 ครัวเรือน มีการให้ข้อมูลเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร แบ่งเป็นประเภท ดังนี้ เครื่องต้นกำลัง เช่น รถไถเดินตาม รถแทรกเตอร์ รวมจำนวน 4,050 เครื่อง เครื่องมือเตรียมดิน เช่น ผาลไถ เครื่องมือปรับหน้าดิน รวมจำนวน 3,031 เครื่อง เครื่องปลูก เช่น เครื่องเพาะกล้า เครื่องพ่น/หว่านแบบสะพายหลัง

เครื่องปลูกข้าวโพด รวมจำนวน 991 เครื่อง เครื่องมือดูแลรักษา เช่น เครื่องพ่นยาสะพายหลัง โดรน เครื่องสางใบอ้อย รวมจำนวน 10,952 เครื่อง เครื่องมือเก็บเกี่ยว เช่น เครื่องตัดหญ้าอาหารสัตว์ รถเกี่ยวนวดข้าว (คอมไบน์ข้าว) รวมจำนวน 150 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ เช่น ท่อสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำใช้ไฟฟ้า รวมจำนวน 6,701 เครื่อง รถบรรทุกการเกษตร เช่น รถอีแต๋น สาลี่ (กระบะบรรทุกพ่วงรถไถเดินตาม) รวมจำนวน 628 เครื่อง

 เครื่องมือหลังการเก็บเกี่ยว เช่น เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องอัดฟาง เครื่องนวดข้าว รวมจำนวน 79 เครื่อง ซึ่งเป็นไปตามความสมัครใจของเกษตรกรในการแจ้งข้อมูล ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายในการกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรเพิ่มเติมจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทางด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง

ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรประเภทต่าง ๆ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับเกษตรกร ช่วยรองรับภาคการเกษตรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเป็นการส่งเสริมเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) เป็นเจ้าของเครื่องมือ เครื่องจักรกลของตนเอง และพร้อมเป็นผู้ให้บริการด้านธุรกิจเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย