นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเน้นให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในการจัดการศัตรูพืชและดินปุ๋ยอย่างยั่งยืน จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้วิธีการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมศัตรูพืช เกษตรกรจำเป็นต้องมีความรู้ในการปลูกพืชให้แข็งแรง มีการสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้ระบบนิเวศวิทยาและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ และการจัดการศัตรูพืชที่เหมาะสม และหลากหลายร่วมกัน อาทิ การสำรวจและติดตามศัตรูพืช การทำเขตกรรม การกำจัดควบคุมกำจัดแบบชีววิธี การใช้พันธุ์พืชที่ต้านทานโรค การใช้วิธีฟิสิกส์ วิธีกล และการใช้สารเคมี ควบคู่ไปกับการใช้ปุ๋ยเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้หลักการLess for more ทำน้อยได้มาก ยึดนโยบาย“ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ของรัฐบาลควบคู่กับการทำงานร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ โดยเน้นหลักการ 4 ถูก คือ ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกเวลาและถูกวิธี และใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดินหรือปุ๋ยสั่งตัด รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้อย่างผสมผสานร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยชีวภาพ ตามความจำเป็นและเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาปุ๋ยเคมีราคาแพง และเป็นการสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ได้ดำเนินการประกวดศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปีพ.ศ. 2567 เพื่อคัดเลือกศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน(ศจช.) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่มีผลงานดีเด่น เป็นต้นแบบในการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ เพื่อนำไปเป็นแนวทางการพัฒนาและเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณชน ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จึงได้จัดกิจกรรมมอบรางวัลให้แก่ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) และศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน(ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 ขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลบางขัน ตำบลบางขัน อำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช มีความโดดเด่นในเรื่องการอนุรักษ์หิ่งห้อยช้าง เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดหอยทากที่มากัดกินน้ำยางบริเวณหน้ากรีดยาง ซึ่งทางศูนย์เป็นผู้ศึกษาพฤติกรรมของหิ่งห้อยช้างและนำมาใช้ประโยชน์ด้วยตนเอง รวมทั้งยังมีการผลิต “กาแฟยกล้อ” สารสกัดสมุนไพรไล่แมลง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในพื้นที่มาปรับใช้ในการจัดการศัตรูพืชอีกด้วย รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนบ้านคอกช้าง ตำบลแหลมบัว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมีการนำกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร และภูมิปัญญามาปรับใช้ในการจัดการศัตรูพืช และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลเขาวัว ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี โดยมีการห้องปฏิบัติการและกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้ในการผลิตชีวภัณฑ์ และการนำกล้องจุลทรรศน์ดิจิตอลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการวินิจฉัยศัตรูพืช
สำหรับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ดีเด่น ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2567 รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลตรอกนอง ตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี มีความโดดเด่นในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ย พัฒนาการผลิตไม้ผลคุณภาพด้วยตนเองโดยไม่รอการสนับสนุนหรือจัดเวทีจากภาครัฐ มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของสมาชิก เช่น สารแคลเซียมโบรอนและนำเทคโนโลยีระบบให้น้ำอัตโนมัติมาใช้ เพื่อช่วยลดระยะเวลาและแรงงานในการจัดการ รวมถึงยังมีคนรุ่นใหม่เป็นสมาชิกเข้ามาช่วยดูแลเรื่องเทคโนโลยีและการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลบ้านใหม่ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา มีการจัดจุดสาธิตและจุดบริการที่ชัดเจน และจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มีความจำเป็นในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มโดยใช้เงินทุนของกลุ่ม และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2ได้แก่ ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลคำนาดีตำบลคำนาดี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬมีการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ตามสูตรของกยท. ให้กับสมาชิกและเครือข่าย ทำน้ำหมักจากไส้เดือนเพื่อนำไปใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์ และสร้างเครือข่ายกับกลุ่มเกษตรกรอื่น อาทิ แปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หรือ “ศจช.” มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อลดความเสี่ยงของการระบาดศัตรูพืชแก่เกษตรกรเป็นจุดในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการระบาดของศัตรูพืชของชุมชน และเป็นศูนย์กลางการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชอย่างถูกต้องและเหมาะสม ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3,500 ศูนย์และส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน หรือ “ศดปช.” มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเป็นเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานด้านการจัดการดินและปุ๋ยของกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นกลไกขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เป็นแหล่งเรียนรู้ให้บริการให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาด้านการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้กับสมาชิกแลละเกษตรกร ในชุมชน ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1,000 ศูนย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นพี่เลี้ยง