กรมส่งเสริมการเกษตรให้ดำเนินการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่ระดับจังหวัด เขต และประเทศ เพื่อคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีแนวโน้มการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบสำหรับวิสาหกิจชุมชนอื่นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระตุ้นและพัฒนาประสิทธิภาพการประกอบวิสาหกิจชุมชน ให้เกิดความมั่นคง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และเผยแพร่เกียรติคุณของวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับรางวัลสู่สาธารณะ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2567 เสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้ส่งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย จังหวัดพัทลุง เป็นตัวแทนระดับเขตเข้าร่วมประกวด ผลปรากฏว่า วิสาหกิจชุมชน
กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย จังหวัดพัทลุง ได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศ ได้รับเงินรางวัลจำนวน 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ โดยมี นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานมอบรางวัล
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง
ตั้งอยู่ที่ 55 หมู่ที่ 3 ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ประธานชื่อนายสมชัย หนูนวล มีสมาชิก 100 ราย
ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูก 500 ไร่ มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 4 ล้านบาท มีผลิตภัณฑ์เด่น เช่น กล้วยหอมทอง เค้กกล้วยหอม
กล้วยกวน ขนมพบรักไส้กล้วยกวน ขนมปั้นสิบไส้กล้วยกวน กล้วยหอมทองฉาบอบน้ำผึ้ง กล้วยอบ และกล้วยหอมทองอบแห้ง มีผลประกอบการ 11,661,753.31 บาท โดยมีความคิดริเริ่มในการก่อตั้งกลุ่มเนื่องจากราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าว มีความผันผวน รายได้ไม่พอดีกับรายจ่าย จึงหันมาปลูกกล้วยหอมเป็นพืชแซมเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และส่งขายให้ร้านสะดวกซื้อในชุมชน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี จึงชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักในละแวกเดียวกันมาร่วมกันปลูก จากนั้นสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ได้เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุน
จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองและไม้ผลปลอดภัย อำเภอบางแก้ว โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญ
คือ ตลาดนำการผลิต มีตลาดที่แน่นอน ขายในราคาที่นำตลาด มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาใช้เพื่อประมาณการผลิต เพื่อการวางแผนตลาดที่ถูกต้อง โดยการนำระบบการแจ้งเตือนรอบการผลิตในระยะต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น วันตัดปลี และการไว้หน่อ อีกทั้งการเก็บข้อมูลสมาชิกผ่านระบบออนไลน์ ในระบบการผลิตของวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก การดูแลรักษา จะมีการตรวจเยี่ยม และให้คำแนะนำจากสมาชิกกลุ่มที่มีองค์ความรู้เพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม รวมถึงการลดของเสียในระบบการผลิตเป็นศูนย์ (Zero Waste) มีการผลิตปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพจากวัสดุเศษเหลือภายในแปลง เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในการผลิตต่อไป รวมถึงการนำกระบวนการแปรรูปมาเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตตกเกรด ยึดหลักเกษตรปลอดภัย ในการดำเนินงานเพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและปลอดภัย
ต่อผู้บริโภค โดยทุกแปลงจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP การใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า รวมถึงการยกระดับ
การผลิตใหม่การผลิตกล้วยพรีเมี่ยม และจัมโบ้ ส่งจำหน่ายเข้าห้าง Modern trade จำนวน 13 สาขาทั่วภาคใต้ เพื่อให้ราคาจำหน่ายผลผลิตสูงขึ้น สอดคล้องกับการผลิตน้อยแต่ได้มาก เสริมความมั่นคงทางรายได้แก่สมาชิก