หลังจากการประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เพื่อขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์
ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ของรัฐบาล
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมรับนโยบายรัฐบาล วางแผน
การบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาขับเคลื่อน ดังนี้
1. การจัดทำแผนที่ความเสี่ยง โดยวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก และปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จากการเพาะปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ในฤดูกาลเพาะปลูก 67/68 เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดการเผาไหม้
และสร้างมลพิษทางอากาศให้ลดน้อยลงมากที่สุด โดยจัดให้มีชุมชนแห่งการเรียนรู้การทำเกษตรแบบไม่เผาและเป็นมิตร
กับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเรียนรู้ชุดข้อมูลพื้นที่เผาไหม้ จุดความร้อน ผลกระทบทางสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมกันสร้างทางเลือกที่ดีกว่า เช่น การปลูกพืชหมุนเวียนมูลค่าสูงเพื่อลดวัสดุเหลือใช้ สร้างผลผลิตและรายได้สุทธิที่หลากหลาย, การแปรรูปตอซังข้าวโพด ฟางข้าว เป็นวัสดุชีวภาพ ชีวมวล, การจัดการวัสดุเกษตรในพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องใช้ไฟโดยประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ตามประกาศและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
2. การจัดการไฟในพื้นที่เกษตร ด้วย ING โมเดล ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร
ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ Climate Smart Agriculture Technology เช่น การประเมินข้อมูลอากาศเพื่อการวางแผนและควบคุมสมดุลปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละระยะ, การจัดระบบน้ำในแปลงเกษตรเพื่อลดความเสี่ยงร้อนแล้ง, การปรับรูปแปลงด้วยระบบ landscape design และ land leveling เพื่อลดการใช้ทรัพยากรปัจจัยการผลิต, การจัดการดินให้เหมาะสมกับด้วยการเติมอินทรียวัตถุในดินและสร้างธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองตามความต้องการของพืช, การจัดการโรค แมลงศัตรูพืชด้วยเทคโนโลยีผสมผสาน (IPM) ซึ่งจะส่งผลให้ลดการใช้น้ำ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการปลดปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง, การปลูกพืชหมุนเวียน (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พืชตระกูลถั่ว มันฝรั่ง และพืชอื่นๆ), การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมวัสดุชีวภาพ Bio Material ทดแทนผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมพลังงานชีวมวล Bio Energy และการเข้าสู่การรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิต มาตรฐานสินค้าที่เป็นมิตรกับ
สิ่งแวดล้อม
3. การพัฒนาออกแบบระบบแรงจูงใจทางเศรษศาสตร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกลไกตลาดสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไม่เผา รองรับการค้าในระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่ไม่เผา เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยในการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสินค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจต่อสินค้าว่าจะไม่มาจากการทำลายสิ่งแวดล้อม และจะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก รวมทั้งการร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซังข้าว ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากการเพาะปลูกข้าว ภายในระยะเวลา 7 วัน ซึ่งทำให้ลดการเผา อีกทั้งยังเพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี เพิ่มผลิตและสร้างรายได้สุทธิที่ดีกว่าเดิมในรอบการผลิตต่อไป
ทั้งนี้ จากความสำเร็จในปี 2566/67 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้ทุกคนได้มีอากาศสะอาด โดยสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวน 16,000 ตันคาร์บอน ซึ่งในปี 2567/68 จะร่วมขับเคลื่อนตามมาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป