เตือนเกษตรกรเฝ้าระวัง 4 โรค – แมลงศัตรู ที่ติดไปกับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง

กรมส่งเสริมการเกษตรเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในทุกภาคของประเทศไทย เฝ้าระวังการระบาดโรคและแมลงที่ติดไปกับท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงปลูกมันสำปะหลังปลายฝนหรือฤดูแล้ง ได้แก่ โรคใบด่างมันสำปะหลัง โรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยหอย

โรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan Cassava mosaic virus (SLCMV) มีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ ลักษณะอาการของโรค ส่วนของยอดอ่อนหรือยอดที่เกิดใหม่จะแสดงอาการด่างเขียวอ่อนหรือเหลืองสลับเขียวเข้ม มีขนาดเรียวเล็ก หงิกงอ และเสียรูปทรง อาการบนใบส่วนที่ถัดลงมาจากยอดหรือใบแก่จะพบอาการด่างเขียวอ่อนหรือเหลืองสลับเขียวเข้ม หงิกงอ และเสียรูปทรง ความเสียหายจากโรคจะทำให้มันสำปะหลังไม่สร้างหัวสะสมอาหารหรือหัวมีขนาดเล็ก ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตลดลง กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1) ปลูกมันสำปะหลังที่ปลอดโรค และเป็นพันธุ์ทนทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 และห้วยบง 60 2)ไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ ระยอง 11 และ CMR 43-08-89 3) สำรวจแปลงมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอหากพบต้นเป็นโรคกระจายทั่วแปลงให้ทำลายทั้งแปลง หากพบโรคเป็นหย่อม ให้ทำลายเฉพาะต้นเป็นโรค 4) ทำลายต้นมันสำปะหลังที่แสดงอาการของโรคใบด่างด้วย 3 วิธี ได้แก่ วิธีฝังกลบ วิธีใส่ถุง/กระสอบ และวิธีบดสับ และ 5) กำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ ถ้าพบแมลงหวี่ขาวยาสูบระยะตัวอ่อนมากกว่า 2 ตัวต่อใบ ซึ่งเป็นระดับที่ระบาดเกินระดับเศรษฐกิจให้พ่นด้วยสารกำจัดแมลงตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

โรคพุ่มแจ้มันสำปะหลัง สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา มีเพลี้ยจักจั่นเป็นพาหะ และต้นสาบม่วงเป็นพืชอาศัยของโรคพุ่มแจ้ ลักษณะอาการคล้ายกับการทำลายของเพลี้ยแป้ง โดยเชื้อไฟโตพลาสมาจะทำให้ท่อลำเลียงอาหารอุดตัน ทำให้ส่วนยอดแคระแกร็น มีการแตกตาข้างมาก ยอดเป็นพุ่ม ใบเล็กลงสีเหลืองซีด และมีใบแห้งติดกิ่งหรือร่วงหล่น ใบที่เป็นโรคจะเริ่มแห้งตายจากใบล่างขึ้นไปถึงที่ปลายยอด ต่อมากิ่งก้านจะแห้งตายจากยอด ลำต้นแคระแกร็น ข้อปล้องสั้น และใบมีขนาดเล็กลง ในระยะเก็บเกี่ยว หากเชื้อลุกลามลงไปที่หัวมันสำปะหลังจะทำให้หัวมีเส้นสีน้ำตาลดำตามแนวยาวใต้เปลือก คุณภาพผลผลิตลดลง และเปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ ถ้าพบการระบาดรุนแรงมันสำปะหลังอาจยืนต้นตายได้ กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1) ใช้ท่อนพันธุ์ปลอดโรคจากแหล่งพันธุ์ที่ยังไม่มีการระบาด 2) ระยะ 1 เดือนหลังปลูกหากพบต้นแตกยอดเป็นพุ่มผิดปกติให้ถอนทิ้ง 3) ระยะ 4 เดือนหลังปลูกหากพบต้นที่แตกยอดพุ่มให้หักกิ่งต่ำจากบริเวณยอดพุ่มประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ทิ้งและพ่นสารกำจัดแมลงให้ทั่งแปลง เนื่องจากโรคนี้สามารถถ่ายทอดได้โดยแมลงพาหะ เช่น เพลี้ยจักจั่น 4) กำจัดวัชพืชทั้งในและรอบแปลง โดยเฉพาะต้นสาบม่วงที่เป็นพืชอาศัยของโรค และ 5) บำรุงต้นมันสำปะหลังให้แข็งแรง โดยการให้ปุ๋ย น้ำ และปรับปรุงดินอย่างเหมาะสม

เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ที่พบในมันสำปะหลังมี 4 ชนิด คือ เพลี้ยแป้งลาย เพลี้ยแป้งแจ็คเบียส เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีเขียว และเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู สำหรับเพลี้ยแป้งที่ทำความเสียหายให้กับมันสำปะหลังอย่างรุนแรงคือ เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู ซึ่งเป็นแมลงศัตรูต่างถิ่น ลักษณะการทำลายเพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ เช่น ใบ ยอด และตา ส่งผลต่อคุณภาพท่อนพันธุ์ หัวมีขนาดเล็ก เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ หากการระบาดรุนแรงยอดจะแห้งตาย ถ้ามีระบาดในช่วงที่มันสำปะหลังอายุน้อย อาจทำให้ต้นมันสำปะหลังตายหรือไม่สามารถสร้างหัวได้ ซึ่งเพลี้ยแป้งนี้จะระบาดรุนแรงในฤดูแล้งมากกว่าในฤดูฝน โดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน แปลงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงความเสียหายเกิดขึ้นเกือบ 100 % ส่วนการแพร่ระบาดนั้น ตัวอ่อนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสามารถเคลื่อนที่ได้จึงเคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่าง ๆ บนต้นมันสำปะหลัง มีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งไปยังส่วนต่าง ๆ ของต้นมันสำปะหลัง กระแสลมพัดพาไข่และตัวอ่อนไปยังต้นอื่น อีกทั้งท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเป็นสาเหตุหลักในการแพร่กระจายและติดไปกับเกษตรกรที่ปฏิบัติงานในแปลงที่มีการระบาดและเครื่องมือการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1)ไถและพรวนดินหลาย ๆ ครั้ง เพื่อลดปริมาณของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังที่อยู่ในดิน 2)ใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาด ปราศจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง 3) แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารกำจัดแมลง เป็นเวลา 5 – 10 นาที ได้แก่ ไทอะมิโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร 4) ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียนเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพู รวมทั้งการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติชนิดอื่น เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ ผีเสื้อหางติ่งตัวห้ำ และแตนเบียนชนิดอื่น ๆ งดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงพ่นในแปลงมันสำปะหลัง ในช่วงที่พบแมลงศัตรูธรรมชาติบนต้นมันสำปะหลัง หรือช่วงหลังจากการปล่อยศัตรูธรรมชาติใหม่ ๆ และ 5) หมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ตัดยอดหรือถอนต้น นำไปทำลายนอกแปลงและพ่นสารกำจัดแมลงบริเวณที่พบและบริเวณโดยรอบที่มีการระบาดทันที สารเคมีแนะนำได้แก่ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม หรืออิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัม หรือโพรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 มิลลิลิตร โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งผสมน้ำ 20 ลิตร

เพลี้ยหอยเกล็ด พบการระบาดในแปลงมันสำปะหลังที่ใกล้เก็บเกี่ยว หรือพบในต้นมันสำปะหลังที่กองสุมไว้ทำพันธุ์ โดยเพลี้ยหอยเกล็ดมีลักษณะเกล็ดสีขาวนูน ขึ้นปกคลุมเกือบทุกส่วนของมันสำปะหลัง ทั้งส่วนยอด ลำต้น กิ่ง เหง้า และหัว กรณีที่มีการปลูกมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยหอยเกล็ดติดไปกับท่อนพันธุ์ การระบาดจะมีความรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ผลผลิตเสียหายถึง 20% ส่วนลักษณะการทำลาย เพลี้ยหอยเกล็ดจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ทำให้ใบเหลืองและร่วง แคระแกร็น หากมีเพลี้ยหอยเกล็ดปกคลุมทั้งลำต้น ทำให้ลำต้นแห้งตาย การแพร่ระบาดติดไปกับท่อนพันธุ์ และเกษตรกรที่ปฏิบัติงานในแปลงที่มีการระบาดและเครื่องมือทางการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1) สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ 2) เลือกต้นมันสำปะหลังที่ไม่มีเพลี้ยหอยเกล็ดไปทำพันธุ์ 3) อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ เช่น ด้วงเต่าลายฟาโรสคิมนัส Pharoscymnus simmondsi Ahmad (แมลงตัวห้ำ) และ 4) แช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกด้วยวิธีการเดียวกันกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง ด้วยสารไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (แช่ท่อนพันธุ์ 10 นาที)

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเน้นย้ำให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง หรือสามารถขอคำแนะนำได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

………………………………

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว

กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร: ข้อมูล