กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของไทย แม้ว่าไม่ใช่พืชหลักแต่สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร เป็นพืชที่ปลูกได้ในหลายพื้นที่ ทั้งในพื้นราบและพื้นที่สูง แบ่งตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของต้นกาแฟ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิต โดยกาแฟที่ปลูกในประเทศไทยมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์อะราบิกา และโรบัสตา ข้อมูลจากระบบทะเบียนเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร ปี 2566 พบว่ามีเกษตรผู้ปลูกกาแฟ 12,457 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 96,928 ไร่ ใน 59 จังหวัด แยกเป็นกาแฟพันธุ์อาราบิกา 57,503 ไร่ และกาแฟพันธุ์โรบัสตา 35,349 ไร่ มีผลผลิตกาแฟรวมทั้งสิ้น 16,575 ตัน มีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ กัมพูชา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตกาแฟประสบปัญหามากมาย หนึ่งในนั้น คือ มอดเจาะผลกาแฟ ที่กำลังระบาดและสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตกาแฟ ผลกาแฟที่ถูกเจาะจะเป็นช่องทางให้เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียเข้าทำลายซ้ำ ผลกาแฟร่วงเสียหาย ทั้งในเรื่องปริมาณผลผลิต และคุณภาพของกาแฟ ส่งผลให้ผลผลิตกาแฟเสียหายมากกว่าร้อยละ 50 กระทบต่อเกษตรกรทำให้มีรายได้ลดลง และพบว่าเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมอดเจาะผลกาแฟ ส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าผลผลิตของตนเองได้รับความเสียหายจากแมลงชนิดนี้ เนื่องจากแมลงมีขนาดเล็ก อีกทั้งร่องรอยการเข้าทำลายมีขนาดเล็ก สังเกตได้ยาก จะมาทราบภายหลังเมื่อเกิดความเสียในระยะเก็บเกี่ยวแล้ว และยังขาดแนวทางในการจัดการมอดเจาะผลกาแฟอย่างถูกวิธี เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
สำหรับมอดเจาะผลกาแฟ เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ความยาวของลำตัว 1.5 – 2 มิลลิเมตร มีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ขยายพันธุ์ได้ 8 – 9 รุ่นต่อปี ตัวเต็มวัยทั้งตัวผู้และตัวเมียเมื่ออกจากดักแด้แล้วจะเจาะกัดกินผลกาแฟเป็นอาหาร โดยตัวผู้ที่ไม่ชอบการเคลื่อนย้าย มักจะอาศัยกัดกินอยู่กับผลเดิมที่ออกจากดักแด้จนกระทั่งผลนั้นแห้งเหี่ยวและร่วงหล่นไป ตัวเมียมักจะบินไปเป็นระยะทางไกล ๆ เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่และผสมพันธุ์วางไข่ โดยเพศเมียจะเจาะผลกาแฟเป็นรูแล้ววางไข่ไว้ภายใน ไข่จะมีระยะเวลาฟักตัวประมาณ 5 – 8 วัน เพื่อเจริญต่อไปเป็นตัวหนอนที่มีลำตัวสีขาว หัวสีน้ำตาล โดยตัวหนอนนี้จะอาศัยกัดกินอยู่ภายในผลกาแฟจนกระทั่งมีอายุประมาณ 10 – 16 วัน จึงเข้าดักแด้ระยะการเป็นดักแด้ประมาณ 7 – 9 วัน จากนั้นก็เจริญต่อไปเป็นตัวเต็มวัยซึ่งวงจรชีวิตของมอดเจาะผลกาแฟจะมีระยะเวลาประมาณ 25 – 35 วัน
ลักษณะการเข้าทำลาย ในระยะผลอ่อนจะพบมอดเจาะผลกาแฟทุกวัยค่อนข้างน้อยแต่ปริมาณจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะผลกาแฟสุกหรือในระยะเก็บเกี่ยวซึ่งจะอยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทำความเสียหายให้กับเมล็ดภายในผล และสามารถเข้าทำลายผลกาแฟได้ทุกระยะการพัฒนาของผลกาแฟ ตั้งแต่ผลกาแฟยังมีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีดจนกระทั่งผลกาแฟแห้งคาต้น ส่วนมากแล้วตัวเต็มวัยจะเจาะเข้าไปทำลายบริเวณปลายผลหรือสะดือผล แล้วเข้าไปวางไข่ด้านในผล ตัวหนอนจะกัดกินอยู่ภายในผล ทำความเสียหายให้แก่เมล็ดภายในผล และจะเข้าดักแด้อยู่ภายในผล จึงทำให้มีการแพร่ระบาดและเข้าทำลายสร้างความเสียหายในแปลงกาแฟเป็นอย่างมาก
กรมส่งเสริมการเกษตรแนะแนวทางป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟ ดังนี้ 1) สำรวจการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟอย่างสม่ำเสมอ 2) รักษาความสะอาดแปลง ตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มให้โปร่ง เก็บเกี่ยวผลกาแฟให้หมดต้น เก็บผลกาแฟที่ถูกมอดเจาะทำลายออกไปทำลายนอกแปลง 3) วางกับดักสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ (เมทิลแอลกอฮอล์ : เอทิลแอลกอฮอล์ อัตราส่วน 1 : 1) อัตรา 5 – 10 จุดต่อไร่ วางสูงจากพื้น 1.0 – 1.5 เมตร และเติมสารล่อทุก ๆ 2 สัปดาห์ 4)การควบคุมโดยชีววิธี ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย สายพันธุ์ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับมอดเจาะผลกาแฟ (Beauveria bassiana สายพันธุ์ DOA B18 ของกรมวิชาการเกษตร) อัตราเชื้อสด 2 – 4 ถุง ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบตามอัตราแนะนำ อัตราพ่น 150 – 200 ลิตรต่อไร่ ฉีดพ่นอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงติดผลจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต และควรพ่นในช่วงเวลาเย็นหรือหลีกเลี่ยงแสงแดด และ 5) หากระบาดรุนแรง พ่นสารฆ่าแมลง ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในระยะที่ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร จนถึงผลกาแฟสุก
สำหรับการป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟหลังการเก็บเกี่ยว กรมส่งเสริมการเกษตรมีคำแนะนำ ดังนี้ 1) แหล่งกะเทาะเปลือกเมล็ดกาแฟ และตากกาแฟกะลา เป็นแหล่งสะสมของมอดเจาะผลกาแฟที่อาจติดมากับผลกาแฟจากแปลง และตกค้างอยู่ในกองเศษซากเปลือกและเมล็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกาแฟกะลาช่วงเวลาการลดความชื้น จึงควรมีการวางกับดักร่วมกับสารล่อมอดเจาะผลกาแฟ เพื่อลดปริมาณมอดเจาะผลกาแฟแพร่กระจาย หรือกลับเข้าสู่พื้นที่ปลูกกาแฟ 2) ควรเก็บเกี่ยวผลกาแฟให้หมดต้น ทั้งผลเขียว และผลดำ เพื่อลดการระบาดของแมลงที่สะสมในผล 3) กระสอบที่เก็บเกี่ยวหรือบรรจุผลกาแฟ ควรเป็นกระสอบที่ ทำความสะอาดง่าย สามารถกำจัดแมลงที่ตกค้างอยู่ได้ 4) ผลผลิตกาแฟโดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟกะลาที่พบว่ามีมอดเจาะผลกาแฟที่เก็บในกระสอบ ควรมีการปิดปากกระสอบให้มิดชิด แยกออกจากพื้นที่ และรีบนำไปทำลายโดยเร็ว และ 5) วางกับดักและสารล่อมอดเจาะผลกาแฟในแหล่งที่ตากกาแฟกะลาที่มีความชื้นสูง เพื่อดักจับแมลงมากำจัด
ทั้งนี้ หากเกษตรพบการระบาดของมอดเจาะผลกาแฟให้ดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของกรมส่งเสริมการเกษตร หรือสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน
……
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว
กลุ่มส่งเสริมการวินิจฉัยศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร: ข้อมูล