ตามนโยบายของ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พร้อมสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เข้ามาในภาคเกษตรมากขึ้น ต่อยอดขยายผล เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ระบบอาหารยั่งยืนของประเทศไทยขับเคลื่อนและเป็นผู้ปูรากฐานที่ดีให้กับภาคเกษตรไทย
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งเป้าขับเคลื่อนและการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อตอบโจทย์ระบบอาหารยั่งยืนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ดังนั้น ระบบอาหารทั่วโลกจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ควบคู่สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายเชิงระบบและมีความซับซ้อนที่ต้องการการผสมผสานของการดำเนินการที่เชื่อมโยงกัน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ดังนั้น จึงมีเป้าหมายที่จะทำงานกับคนรุ่นใหม่ ควบคู่กันทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่จะต้องตระหนักและเรียนรู้ร่วมกันในการขับเคลื่อนเรื่องราว และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งโอกาสสำคัญหนึ่งคือการเปิดเวทีให้เกษตรกรรุ่นใหม่ ร่วมแลกเปลี่ยน ถึงเป้าหมายและโจทย์ที่ภาคเกษตรไทยต้องเจอ
ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และระบบการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน
สำหรับการจัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างเกษตรกรรุ่นใหม่ภาคเหนือ ในงานมหกรรมการเกษตรและท่องเที่ยว
ถนนสายดอกไม้งาม ริมกว๊านพะเยา เมื่อวันที่ 27 – 28 ธันวาคม 2567 ชวนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ
ในการทำธุรกิจมาแลกเปลี่ยนและบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ โดยมีคุณนนทิวัฒน์ ศรีคาน เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร
เป็นผู้ดำเนินรายการ
คุณอนันต์วัฒน์ วานิชธนพัฒน์ Young Smart Farmer จังหวัดเชียงราย เล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ภาคเกษตรจะเจอไปตลอด ที่ผ่านมาเกษตรกรปรับตัวทุกวัน เพียงแต่ใช้ประสบการณ์ในการบริหารจัดการผลผลิต
ในยุคปัจจุบันถ้าทำในรูปธุรกิจ ไม่สามารถที่จะใช้ประสบการณ์เพียงอย่างเดียวในการบริหารจัดการข้อมูลได้ และมองว่าการมีคอมมูนิตี้ที่ดีจะตอบโจทย์การผลิตที่นยั่งยืน ตลาดเกษตรกรรมต้องส่งเสริมกัน ใช้ทรัพยากรร่วมกัน
สินค้าเหมือนกันไม่จำเป็นต้องแข่งกัน ต้องมองตลาดแล้วไปด้วยกัน จะทำให้ไปได้ไกลกว่า
คุณทัตติกา ปาลี YSF จังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟัง ปัจจุบันทำข้าวอินทรีย์และทำควบคู่กับเกษตรกรรุ่นเก่า ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นสู่รุ่น ต้องเลือกแนะนำให้เค้าใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมก่อน มองปัญหาร่วมกัน เราเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่
ก็หาทางเลือกมาแก้ให้ตรงจุด เมื่อก่อนพื้นที่โดยรอบก็ใช้เคมีในการทำนา ค่อยๆ ปรับและชี้ให้เห็นถึงปัญหาเห็นความเสื่อมโทรมของดิน ก็เริ่มจากตรวจวิเคราะห์และฟื้นฟูดินไม่กี่ปีก็ดินกลับมาสมบูรณ์โลกแมลงลดลง เกิดการขยายผล
แปลงข้างเคียง เพราะการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมี และการฟื้นฟูดิน ก็เป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนอีกทางหนึ่ง
คุณพิลาสลักษณ์ อนันตธนโชคดี YSF จังหวัดพะเยา เล่าว่าการทำเกษตรต้องศึกษาข้อมูลทุกเรื่อง สภาพอากาศ แหล่งน้ำ สำหรับพืชต้องทำความรู้จักและเข้าใจพืชที่ตัวเองปลูก รู้จักตลาด เพราะถ้าเราไม่รู้ล่วงหน้า ไม่มีแนวทางการบริหารจัดการ เมื่อเวลาต้องส่งของให้ลูกค้าก็จะไม่มีผลผลิตให้ลูกค้า ไม่สามารถวางแผนการตลาด คาดการณ์ไม่ได้ ดังนั้น การจะทำธุรกิจต้องวางแผนทุกอย่างให้สามารถทำงานได้ทั้งระบบ ให้สามารถส่งมอบคุณค่าให้กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวทิ้งท้ายว่า การส่งเสริมเกษตรกรรุ่นใหม่ต้องให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลัก
คือ การปรับจากปัจจุบันไปสู่การเกษตรที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
และวิธีการที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่ดีกว่า การเปลี่ยนจากการเกษตรที่ใช้แรงงานเป็นหลักสู่การเกษตรที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มข้น เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากร จะสร้างผลตอบแทนสุทธิที่ดีกว่า และพลิกโฉมจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรผสมผสานที่สร้างแหล่งรายได้หลากหลาย
เพื่อลดความเสี่ยงด้านการเงิน