นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรและทรัพยากรในชุมชน ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินกิจการวิสาหกิจชุมชน สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนและต่อทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1) ได้รับการรับรองตามกฎหมาย
2) ได้รับการประเมินศักยภาพและพัฒนาตามแผนความต้องการพัฒนากิจการ
3) ได้รับการ Upskill/Reskill ในการพัฒนาธุรกิจผ่านการอบรมหลักสูตรต่าง ๆ
4) ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์
5) สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำตามนโยบายของรัฐ
6) เข้าถึงช่องทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
7) ได้รับการลดค่าธรรมเนียมการจดแจ้งเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์อาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา รวมทั้งได้รับการยกเว้นการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ทั้งปี ไม่เกิน 1,800,000 บาท
โดยในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดนโยบายมุ่งเน้นให้วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีความสามารถในการแข่งขันและมีการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ ร้อยละ 4 ต่อปี และสามารถยกระดับสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เท่าทันต่อความท้าทาย การเปลี่ยนแปลงของตลาด และความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน สามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการผลิต แปรรูปสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ภาพรวมรายได้ของวิสาหกิจชุมชนปี 2566 ประมาณ 8,036 ล้านบาท (ข้อมูลจากจำนวนวิสาหกิจชุมชน 20,468 แห่ง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2567)
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดให้วิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ต่อทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 – 30 มกราคม 2568 โดยวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสามารถยื่นแบบคำขอดำเนินกิจการต่อของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (สวช.03) ผ่าน 2 ช่องทาง คือ
1) ณ สำนักงานเกษตรอำเภอที่จดทะเบียน หรือ 2) ผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ววันนี้ ทาง https://smce.doae.go.th (เว็บไซต์เดียวเท่านั้น และไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ)
โดยยื่นเอกสารประกอบการต่อทะเบียนฯ ดังนี้
1) หนังสือสําคัญแสดงการจดทะเบียน (ท.ว.ช.2)
2) เอกสารสําคัญแสดงการดําเนินกิจการ (ท.ว.ช.3)
3) บัตรประชาชนของผู้ยื่นแบบ
4) หนังสือมอบอํานาจให้ทําการแทน (ถ้ามี)
5) บันทึกแจ้งความ (กรณี ท.ว.ช.2 /ท.ว.ช.3 สูญหาย)
6) ข้อบังคับ หรือข้อตกลงร่วมกันของสมาชิก
7) แผนประกอบการ
และ 8) ผลการดําเนินงาน ที่สำคัญคือวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ได้มาต่อทะเบียนเป็นระยะเวลา 2 ปีติดต่อกัน จะถูกเพิกถอนทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน (ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสากิจชุมชน พ.ศ.2548 มาตรา 8)
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่สำนักเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน และเป็นหน่วยงานรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนได้รับการพัฒนาและจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 74,169 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567)
*************************