กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมบูรณาการการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วของภาครัฐแบบครบวงจร สู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความมั่นคงทางอาหาร

กรมส่งเสริมการเกษตรเพิ่มกำลังการผลิตพืชตระกูลถั่วและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและลดการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ โดยมีแผนผลิตเมล็ดพันธุ์ 200 ตันต่อปีภายในปี 2570 พร้อมสร้างโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์เพื่อยกระดับคุณภาพการผลิต

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธุ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พืชตระกูลถั่ว เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อระบบการปลูกพืช เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย สามารถปลูกทดแทนข้าวนาปรัง ช่วยตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และยังมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้บริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันผลผลิตพืชตระกูลถั่วภายในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงต้องมีการนำเข้าผลผลิตทดแทนจากต่างประเทศมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่ขณะเดียวกันพื้นที่การเพาะปลูกก็มีแนวโน้มลดลง เนื่องมาจากเกษตรกรขาดแรงจูงใจด้วยพืชตระกูลถั่วเป็นพืชที่มีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่น ๆ ประกอบกับเกษตรกรขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดี และขาดการรณรงค์ส่งเสริม การสร้างความรู้และความเข้าใจแก่เกษตรกรให้ตระหนักถึงการใช้เมล็ดพันธุ์ดี รวมทั้งเกษตรกรโดยทั่วไปมักจะซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าในท้องถิ่น ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกในปริมาณมากต่อไร่ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูง พืชมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ปริมาณผลผลิตต่ำและไม่มีคุณภาพ และสิ่งสำคัญเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตในชั้นคุณภาพดีได้

ดังนั้น การเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว (Seed) เข้าไปในระบบโดยภาครัฐ จึงมีความสำคัญ ทั้งในแง่ของการสร้างกลไกการผลิตเมล็ดพันธุ์ของภาครัฐให้ครบวงจร (โดยกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด ชั้นพันธุ์หลัก ชั้นพันธุ์ขยาย) และส่งต่อให้กองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์จำหน่าย โดยสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และการยกระดับศูนย์เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นเครือข่ายผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว (Seed Producer) และส่งต่อให้กับสำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วไปนำไปใช้ในการเพาะปลูก เช่น การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย การส่งเสริมการลดพื้นที่ทำนาปรัง การสนับสนุนพื้นที่มุ่งเน้นการหยุดเผา เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วของประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจร นำไปสู่การยกระดับประสิทธิภาพการผลิต (เพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่) ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรและสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับประเทศ

โดยกองขยายพันธุ์พืช มีแผนในการดำเนินงานผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ (ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง) ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 – 2570 เฉพาะที่ดำเนินการในพื้นที่ของศูนย์ขยายพันธุ์พืชและเกษตรกรเครือข่าย โดย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ประมาณการผลผลิตถั่วเขียว 20,400 กิโลกรัม ถั่วเหลือง 48,000 กิโลกรัม ถั่วลิสง 8,000 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 33,200 กิโลกรัม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ประมาณการผลผลิตถั่วเขียว 60,000 กิโลกรัม ถั่วเหลือง 45,000 กิโลกรัม ถั่วลิสง 23,000 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 128,000 กิโลกรัม และ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 ประมาณการผลผลิตถั่วเขียว 90,000 กิโลกรัม ถั่วเหลือง 75,000 กิโลกรัม ถั่วลิสง 46,000 กิโลกรัม รวมทั้งสิ้น 211,000 กิโลกรัม

และเพื่อเป็นการรองรับการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชไร่ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ พร้อมลานตาก ณ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพ และมาตรฐานของพันธุ์พืชตระกูลถั่ว โดยการใช้เทคโนโลยีการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการผลิตขยายพืชพันธุ์ดีในสายการผลิตพืชจากเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี มีคุณภาพ และได้มาตรฐานของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม