นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่าสูง ดังนั้น ประชาคมโลกจึงตั้งใจร่วมกันที่จะดำเนินมาตรการเพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และตระหนักว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง โดยประเทศไทยมีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 30 จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีปกติ ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งมาตรการที่ประชาคมโลกนำมาใช้เพื่อให้ผู้ผลิตได้ดำเนินกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน อันเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป ‘ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน’ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (Carbon Intensive Products) เป็นต้น และจะเข้มข้นมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะซื้อสินค้าที่สามารถตรวจสอบและรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าจึงต้องตระหนัก เข้าใจ และมีบทบาทหน้าที่ที่จะต้องผลิตสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อมีส่วนร่วมในการรักษาระดับไม่ให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
กรมส่งเสริมการเกษตร มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตร ผ่านเวทีเรียนรู้ หรืองาน Green Day ทั้ง 77 จังหวัด และการจัดทำแปลงทดสอบ สาธิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Smart Technology) มาใช้ในการทำนา เช่น การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยตามความต้องการของพืชจากค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การใช้พืชพันธุ์ดีมีความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การวางแผนการเพาะปลูก การใช้เครื่องจักรกลให้เหมาะสมกับสภาพการเพาะปลูก รวมทั้ง การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกพืชใช้น้ำน้อยหมุนเวียนหลังจากทำนาปี เช่น ฟักทอง แตงโม มะเขือเทศ ถั่วลิสง ที่ให้ผลกำไรสูงกว่าการปลูกข้าว การลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงโดยการใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์มาใช้ในระบบสูบน้ำ รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวนาปรัง โดยเจ้าหน้าที่และเกษตรกรจะร่วมกันจัดเก็บและบันทึกข้อมูลการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาณการใช้ปุ๋ย และการขังน้ำในแปลงนา ผ่านทาง “ระบบบันทึกกิจกรรม และคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas System : GHGs) ที่กรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาขึ้นตามคู่มือมาตรฐานการคำนวณก๊าซเรือนกระจก IPCC 2006 และปรับปรุงคู่มือในปี 2019 ทางเว็บไซต์ https://ghgs.doae.go.th” เพื่อสนับสนุนการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เตรียมความพร้อมเข้าสู่มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลากสินค้าคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Label) ยืนยันการเป็นสินค้า Green Product และเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานเพื่อเข้าสู่คาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (T-VER)
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการเกษตรจะนำข้อมูลกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรที่เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจัดเก็บ/จดบันทึก คำนวณ และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตรมาใช้เป็นข้อมูลฐาน (Baseline Data) เพื่อการวิเคราะห์และวางแผนการส่งเสริมการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรอย่างเป็นระบบ พัฒนาให้เกษตรกรมีความรู้ พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืน และเตรียมการพัฒนาการผลิตสู่ตลาดสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามความต้องการของตลาดโลกต่อไป
*****************************
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว