กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี ด้วยหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยมีแนวทางสำคัญในการผลักดันให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งในโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) มุ่งหวังให้เกษตรกรมี ทักษะ ความรอบรู้ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร สามารถบริหารจัดการการผลิต การตลาด พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรในอนาคต
นายสุริยะ คำปวง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer กรมส่งเสริมการเกษตรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นอกจากมุ่งเน้นการพัฒนาให้เกษตรกรทั่วไปปรับแนวคิดในการประกอบอาชีพทางการเกษตรให้มีการจัดการที่ดีและสามารถประเมินคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ของ Smart Farmer ได้ตามตัวชี้วัดโครงการแล้ว ยังมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพผ่านการพัฒนาในระดับที่ 2 คือ การพัฒนายกระดับ Smart Farmer ให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ หรือ Smart Farmer Model ในกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบ (Smart Farmer Model) เพื่อขยายผลการพัฒนา โดยการเสริมสร้างศักยภาพของ Smart Farmer ที่ประสบความสำเร็จในกิจกรรมทางการเกษตรเป็นที่ประจักษ์ มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ และมีความเสียสละทำประโยชน์แก่ส่วนรวม เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างแนวคิดให้กับเกษตรกรได้นำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติตาม
สำหรับการดำเนินงานประกอบด้วยกิจกรรมย่อย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมจัดเก็บข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพการบริหารจัดการแปลง Smart Farmer Model ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้ Smart Farmer Model ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จัดทำข้อมูลเพื่อประเมินคุณภาพแปลง วิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมในเชิงประจักษ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อยอดและปรับปรุงการทำงานของตัวเกษตรกร และ 2) กิจกรรมสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพ Smart Farmer Model เพื่อการขยายผลการพัฒนา ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดจากกิจกรรมแรก เพื่อเพิ่มศักยภาพองค์ความรู้ของ Smart Farmer Model ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์ในการขยายผลการพัฒนาเกษตรกรต่อไป
“การดำเนินการพัฒนา Smart Farmer Model นั้น เป็นหนึ่งในขั้นตอนการพัฒนา Smart Farmer ที่สำคัญ โดยใช้ความเป็นต้นแบบในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งให้ความสำคัญกับการชี้ให้เห็นว่า Smart Farmer เป็นอย่างไร โดยพิสูจน์ได้ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ๆ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นถึงหลักคิด การทำงาน จนเกิดเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ การที่ Smart Farmer Model มีข้อมูลหรือความรู้เชิงประจักษ์ สามารถตอบโจทย์ความสำเร็จของตนเองได้ ทำให้ตัวเกษตรกรเห็นคุณค่าและเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ จะก่อให้เกิดความตั้งใจในการพัฒนาต่อยอดการทำงานให้ดียิ่งขึ้นไป และพร้อมเป็น Role Model ที่ได้รับการยอมรับ ส่งผลดีต่อการขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ช่วยให้เกษตรกรและนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรเกิดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อวางแผนการพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขการทำงานได้ดีขึ้น ตอบโจทย์การเรียนรู้จากต้นแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถยกระดับสู่ผู้ประกอบการเกษตรในลำดับต่อไป” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนาเกษตรกรตามโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) มาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อพัฒนาเกษตรกรทั่วไปให้เป็น Smart Farmer ซึ่งกระบวนการพัฒนาเกษตรกรนั้น เริ่มต้นจากการปรับแนวคิดของเกษตรกร สอนให้รู้จักการวิเคราะห์ตนเอง รู้ทันสถานการณ์และมีภูมิคุ้มกัน และช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ ด้านการเกษตรให้เกิดความเชี่ยวชาญและมีประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อเป็นกลไกในการต่อยอดการพัฒนาทักษะ ความเป็นผู้ประกอบการเกษตร โดยเสริมสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกัน และสนับสนุนประสานความร่วมมือการวิจัยเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกัน เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองทางธุรกิจและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับการประเมินให้เป็น Smart Farmer แล้ว จำนวน 215,772 คน
……
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : ข่าว
กองพัฒนาเกษตรกร : ข้อมูล