8-9 กุมภาพันธ์ นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ณ อุทยาน ร. 2 ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานศิลปะอันทรงคุณค่าเป็นมรดกแก่ชาติ ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในปีนี้ ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิฯ ซึ่งจะเสด็จพระราชดำเนินเปิดงานในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 15.00 น. โดยเป็นโอกาสสำคัญในการยกย่องพระราชกรณียกิจและพระคุณงามความดีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ภายในงานจะมีหลากหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น การแสดงนาฏศิลป์ตามบทพระราชนิพนธ์ การสาธิตศิลปวัฒนธรรมที่สะท้อนความหลากหลายทางวัฒนธรรม รวมถึงนิทรรศการด้านการเกษตรที่แสดงถึงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ กิจกรรมทั้งหมดนี้จะช่วยเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจในคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมและความสำคัญของการเกษตรไทย นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดสมุทรสงคราม อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมศิลปากร รวมถึงหน่วยงานราชการในจังหวัดสมุทรสงคราม โดยการบูรณาการจัดงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้าร่วมงาน ส่วนกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดแปลงสวนเกษตรตามแนวพระราชดำริ พร้อมทั้งแปลงรวบรวมพันธุ์พืชที่มีคุณค่าและหลากหลาย เพื่อเป็นแบบอย่างในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การจัดงานครั้งนี้จึงไม่เพียงแค่เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการเกษตรของไทยให้คงอยู่สืบไป
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดนิทรรศการด้านการเกษตรในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมดำเนินภายใต้แนวคิด “อาหาร” โดยนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับรสชาติที่หายไป (Lost taste) ประกอบด้วย 1) นิทรรศการอาหารในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพื่อใช้เป็นบทเห่สำหรับการเสด็จประพาสทางชลมารคและยังเป็นจดหมายพรรณนาความรัก ความคิดถึงที่พระองค์มีต่อเจ้าฟ้าหญิงบุญรอด มีเนื้อความพรรณนาถึงอาหารคาว จำนวน 15 อย่าง จึงนำมาจัดแสดงส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องในอาหารทั้งหมด และจัดแสดงข้อมูลทางด้านวิชาการของส่วนประกอบที่สำคัญ ของกระเทียมไทย ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ลดไขมันในเลือด ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ 2) นิทรรศการสินค้าอัตลักษณ์ (GI) ของจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งมีอยู่ จำนวน 5 ชนิด คือ ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม พริกบางช้าง ปลาทูแม่กลอง และเกลือสมุทรแม่กลอง ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร เล็งเห็นความสำคัญของส้มโอขาวใหญ่ จึงนำมาการทดสอบลักษณะทางกายภาพ เช่น ขนาด รูปร่าง สี และความสมบูรณ์ของผล รวมถึงการทดสอบทางเคมี เช่น ปริมาณน้ำตาล ปริมาณ Total Phenolic Content ปริมาณสาร Total Flavonoid ปริมาณสาร Naringin ปริมาณสาร Hesperidin รวมถึงฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระ เพื่อนำผลการทดสอบมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาด รวมทั้งนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ 3) นิทรรศการพริกบางช้าง จัดแสดงต้นพริกพันธุ์บางช้างที่ลักษณะพันธุ์ดี ตรงตามสายพันธุ์ และได้รับรางวัลจากการประกวดพริกบางช้าง ประจำปี พ.ศ. 2568 ซึ่งจะตัดสินในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 โดยพริกบางช้างเป็นพริกพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่พบตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อาหารชาววังจะใช้พริกบางช้างเป็นส่วนประกอบ เพราะมีกลิ่นหอม สีสวยสด และรสชาติเผ็ดไม่มากนัก กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญได้จัดการประกวดดังกล่าว และนำมาจัดแสดงเพื่อเป็นการอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อไป และ 4) ต้นกล้าพริกพันธุ์ดี จำนวน 1,000 ชุด เป็นการสนับสนุนต้นกล้าพริกบางช้างพันธุ์ดี เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกไว้บริโภคในชีวิตประจำวันได้ และเป็นการขยายพื้นที่ปลูกให้พริกบางช้างไม่สูญหายไป ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ระหว่างวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2568 ณ อุทยาน ร. 2 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม