กรมส่งเสริมการเกษตร ปฏิบัติการก้าวข้ามเผาสู่การจัดการเศษวัสดุ ลดฝุ่น PM2.5 และก๊าซเรือนกระจก GHGs

ในอดีตการเผาวัสดุการเกษตรอาจไม่ส่งผลต่อสุขภาพเหมือนปัจจุบัน เนื่องจากว่าภาวะโลกร้อนไม่รุนแรง แต่ทุกวันนี้การเผาได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก หากสามารถจัดการได้ตั้งแต่ต้นตอแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อให้ฝุ่น PM 2.5 และก๊าซเรือนกระจกลดลง นั่นคือวิธีการที่ดีที่สุด

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ NARIT ระบุว่างานศึกษาวิจัยในอิตาลี พบว่า ฝุ่น PM 2.5 มีองค์ประกอบที่มาจากการเผา สารชีวมวล หรือเศษวัสดุทางการเกษตรเพียง 23% เท่านั้น ที่เหลือเป็นไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon Compounds ) ฟอสซิล การเผาไหม้ของยานยนต์ 11% เหลือ 66% เป็นละอองฝุ่นขนาดเล็กหรือละอองลอย ในอากาศที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมีหรือการเปลี่ยนรูปในบรรยากาศของก๊าซสารตั้งต้นบางประเภท เช่น ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ก๊าซแอมโมเนีย (NH3) และกลุ่ม ก๊าซสารอินทรีย์ระเหยง่ายอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นสารมลพิษในอากาศ ดังนั้น การเผาวัสดุการเกษตรของเกษตรกรจึงไม่ใช่ทั้ง 100% ของ PM2.5


ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดแผนการดำเนินงาน
ไว้ 4 ส่วน คือ
1. การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อวางแผนการบริหารจัดการพื้นที่ที่เสี่ยงการเผา โดยรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเพาะปลูก
และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวพืชที่เสี่ยงต่อการเผา คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย และข้อมูลเกษตรกรในแต่ละจังหวัด แล้วใช้เทคโนโลยีโดยใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมประกอบกับพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) จุดความร้อน (Hotspot) เพื่อติดตาม และประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ พร้อมประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่น และดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 เรื่อง มาตรการบริหารจัดการป้องกัน และแก้ไขปัญหา
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร
2. การป้องปราม โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้สื่อสารให้ความรู้ ความตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพ
และสิ่งแวดล้อมแก่เกษตรกรได้รับทราบ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เมื่อเกษตรกรเข้าใจแล้ว ปริมาณการเผาก็จะลดลงซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจและตระหนักมากขึ้นว่า ถ้าเผาแล้วจะส่งผลต่อสุขภาพและผิดกฎหมาย นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจะร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ค้นหาพื้นที่เผาไหม้ (Burn Scar) แล้วจะมาทาบกับแผนที่ความเสี่ยงที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ จะทำให้ทราบพื้นที่เผาระบุเกษตรกรผู้ดำเนินการได้
3. การดำเนินการตามกฎหมาย เมื่อพิสูจน์ทราบแล้วว่ามีการเผาจริงที่เกิดจากการกระทำของเกษตรกร จะบันทึกประวัติการเผาในพื้นที่เกษตรและเกษตรกรรายนั้น จะไม่ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหรือส่งเสริมการพัฒนาด้านการเกษตรและช่วยเหลือเกษตรกรทุกโครงการ ยกเว้นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 – 31 พฤษภาคม 2570

4. ให้ความรู้แนะนำการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ช่องทางและการสนับสนุนตลาดการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ เช่น การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง การแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และการใช้ประโยชน์อื่นๆ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากตอซังข้าวโพด โดยนำส่งเข้าโรงงานชีวมวล รวมถึงการนำผู้ซื้อกับผู้ขายมาพบกัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการในห้วงเวลานี้เพื่อจัดการวัสดุทางการเกษตร ตลอดจนการรณรงค์การใช้ปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลาการเจริญเติบโต เพื่อลดการเกิดไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ละอองลอยทุติยภูมิ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะฝุ่นเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นทุกปี โดยได้ร่วมกับภาคเอกชน ใช้เครื่องจักรในการอัดก้อนฟาง รวมถึงร่วมกับบริษัทต่างๆ เพื่อย่อยสลายตอซัง เป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวก่อนที่จะเผา รวมถึงการส่งเสริมให้ทำปุ๋ยหมักและจัดสรรให้ชุมชน เป็นการประหยัดปุ๋ยที่จะใช้ในรอบต่อไปได้เรื่องนี้ทุกหน่วยงานร่วมกัน” สำหรับระยะต่อไป กรมฯ ได้เตรียมการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรจากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ชีวมวล ตลอดจนโครงการสนับสนุนต้นทุนกิจกรรมเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม อันเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ในปี 2568 ต่อไป”

นายพีรพันธ์ กล่าวว่า ผลการจัดการดำเนินการ ในปี 2567 ที่ผ่านมาในรายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือน ก.พ.- เม.ย. มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็น 69% เป็นมูลค่าทาง เศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท

ดังนั้น การไม่เผาจึงมีทางออกชัดเจนที่เกษตรกรทุกคนต้องยอมรับว่า สามารถจัดการก้าวข้ามเรื่องการเผาได้ ซึ่งเมื่อผนวกรวมกับต้นทุนสุขภาพของเกษตรกร ประชาชน เด็ก และผู้สูงอายุ จะมีต้นทุนทางสังคมที่สูงมาก ทุกภาคส่วนต้องหารือเพื่อหาทางออก ร่วมกันโดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อม ร่วมกับทุกภาคส่วน รวมถึงชุมชนเพื่อวิเคราะห์ หาทางเลือกที่ดีที่สุดแล้วสามารถตอบสังคมได้