นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 2/2564 (วันที่ 28 ม.ค. 2564) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมว่า จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 ที่เห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 (เพิ่มเติม) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุต้นลำไยตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป) เป้าหมาย 200,000 ครัวเรือน โดยให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริง ในอัตราไร่ละ 2,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เดิมกำหนดเป้าหมายเกษตรกรไว้ 200,000 ครัวเรือน และให้เยียวยาชาวสวนในส่วนที่เกินจากเป้าหมายเดิมเพิ่มขึ้น 2,013 ครัวเรือน (ยอดรวมสุทธิ 202,013 ครัวเรือน) เบิกจ่ายจากกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ ครม.ได้อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2563 วงเงิน 3,440,049,735 บาท ซึ่งได้ขยายเวลาจากวันที่ 31 ธ.ค. 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค. 2564 นั้น
ล่าสุดมีการตรวจสอบ พบว่า เกิดความผิดพลาดเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศ จึงต้องนำเรื่องหารือที่ประชุม Fruit Board ขอเพิ่มครัวเรือนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา ตาก และจังหวัดน่าน เกษตรกร 160 ราย พื้นที่ 952 ไร่ เป็นเงิน 1,904,000 บาท ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบโดยพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นความผิดพลาดทางระบบสารสนเทศ โดยให้ปรับปรุงแก้ไขข้อมูลให้สมบูรณ์ และให้เตรียมเสนอ ครม. ขอความเห็นชอบขยายระยะเวลาการเยียวยา จากเดิม 31 ม.ค. 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. 2564 เพื่อให้การดำเนินการมีความละเอียดรอบคอบ มีระยะเวลาเพียงพอในการตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงการให้ ธกส. ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วงวิกฤตการณ์ COVID – 19 นั้น ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการผลไม้ในระยะปานกลาง (3 ปี) ที่เน้นความสอดคล้องตามยุคสมัยปัจจุบันซึ่งมีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นในยุค 4.0 ตลอดจนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID – 19 โดยเน้นช่องทางการซื้อขายออนไลน์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระจายได้สูง เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนการขายแบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง โดยให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ทุกจังหวัดส่งเสริมและสนับสนุนอำนวยความสะดวกเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถกระจายผลผลิตด้วยวิธีการค้าออนไลน์ให้มากขึ้น รวมทั้งให้เน้นการป้องกันและพึงระวังตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวและการจัดการในสวนผลไม้จนถึงการขนส่งไปยังผู้บริโภคให้มีการปฏิบัติที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบในหลักการเบื้องต้นสำหรับมาตรการรองรับการบริหารจัดการผลไม้ซึ่งเสนอโดยกรมการค้าภายใน โดยได้เตรียมมาตรการรองรับสำหรับการบริหารจัดการผลผลิตที่จะออกกระจุกตัวพร้อมกันในช่วงเดือน พ.ค. 2564 และปัญหาที่เป็นผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ อาทิ การขนส่งผลไม้เพื่อการส่งออกทั้งทางบก อากาศ และเรือ แรงงาน และความเชื่อมั่นของตลาดต่างประเทศ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างประเทศที่ลดลง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ให้สนับสนุนความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการในด้านของ (1) เพิ่มช่องทางและเชื่อมโยงการจำหน่าย (2) การขนส่ง (3) เพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ซึ่งกรมการค้าภายในได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาผลไม้ ปี 2564 โดยกำหนดเสนอขอใช้งบประมาณจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 492.443 ล้านบาท ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายกรมการค้าภายในให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอขออนุมัติงบประมาณดังกล่าวจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย กิจกรรมสนับสนุนด้าน (1) การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและการเชื่อมโยงการจำหน่ายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (2) การเพิ่มช่องการจำหน่าย (3) การรวบรวมรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งออก (4) การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคผลไม้
**********************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : ข่าว
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล, มกราคม 2564