กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนเกษตรกรลดการเผาในพื้นที่เกษตร พร้อมจับมือภาคี ส่งเสริมสร้างทางเลือกอื่น

(วันที่ 11 มี.ค. 64) นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ประธานเปิดการจัดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดเป็นประจำทุกปี ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตร คือ ทำให้เกิดปัญหาดินเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ภาครัฐจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินนโยบายการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร และให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตรก็มีทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

พื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมดในจังหวัดกาญจนบุรี มีจำนวน 3,030,599 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว จำนวน 439,342 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด พื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 735,127 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24 ของพื้นที่ทางการเกษตรทั้งหมด ซึ่งการทำการเกษตรของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย ยังคงมีการเผาช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต ดังนั้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรกรในการป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดกิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น ภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2564 ณ แปลงอ้อยเกษตรกรต้นแบบ หมู่ที่ 4 ตำบลวังเย็น อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยจัดให้มีฐานเรียนรู้เพื่อให้เกษตรกรได้มองเห็นทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผาในด้านต่างๆ เช่น การใช้เครื่องจักรกลเก็บใบอ้อย การสาง ใบอ้อย และมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานสะอาด รับซื้อใบอ้อย ในราคาตันละ 600 บาท ใบอ้อยสับ ราคาตันละ 750 บาท ชานอ้อย ราคาตันละ 750 บาท เป็นต้น ซึ่งมีหน่วยงานจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถานีพัฒนาที่ดินกาญจนบุรี ศูนย์ส่งเสริมเยาวชนเกษตรอาเซียน จังหวัดกาญจนบุรี ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่มาร่วม จัดนิทรรศการและสาธิตกิจกรรม จำนวน 6 สถานี คือ สถานีที่ 1 ความรู้พื้นฐานด้านการหยุดเผาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้เศษวัสดุทางการเกษตร สถานีที่ 2 สาธิตการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ ตามความสนใจของเกษตรกรในพื้นทีา ได้แก่ การเพาะเห็ดฟาง การทำน้ำหมักสลายตอซัง และการแปรรูปฟางข้าว สถานีที่ 3 การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นภาชนะสำหรับใส่อาหาร สถานีที่ 4 เทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า (การผลิตถ่านหอม) สถานีที่ 5 นำเสนอทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา ได้แก่ การอัดฟ่อนใบอ้อย และสถานีที่ 6 การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน รวมถึงมีการนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา โดยการไถกลบตอซังอ้อย การทำปุ๋ยหมักจากใบอ้อยและฟางข้าว และการทำปุ๋ยหมักไม่กลับกอง

การจัดงานรณรงค์ในวันนี้ เป็นการถ่ายทอดความรู้ สาธิตให้เกษตรกรได้ปฏิบัติจริง โดยหน่วยงานต่าง ๆ นำองค์ความรู้มาถ่ายทอด เพื่อให้ทุกท่านสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่การทำการเกษตรปลอดการเผา และเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโอกาสอันดีของเกษตรกร อำเภอเมืองกาญจนบุรี ที่ได้มาสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาร่วมกัน นางกุลฤดี กล่าว