กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับตลาดไท จัดโครงการผักร่วมใจ เพิ่มช่องให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตผักปลอดภัยสามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรได้เพิ่มขึ้น สร้างโอกาสในการต่อยอดในการทำการตลาดให้เกษตรกร มูลค่าสินค้าที่จำหน่ายกว่า 1,200 ล้านบาท
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรได้มีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดหาช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร โดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเซนจ์ จำกัด (ตลาดไท) ตั้งแต่ปี 2562 เพื่อสนับสนุนนโยบายตลาดนำการผลิตดังกล่าว และการส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้โครงการ “ผักร่วมใจ ผักปลอดภัย” โดยทางตลาดไทได้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายเฉพาะสำหรับผลผลิตผักที่ได้มาตรฐาน GAP มีการตรวจสอบย้อนกลับได้ด้วย QR Code การสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้าประเภทอื่นให้เกษตรกรในอัตราพิเศษ แยกเป็นสัดส่วน สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์สารพิษ รวมถึงช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในการจำหน่าย และในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด ตลาดไทได้สนับสนุนพื้นที่พิเศษให้เกษตรกรเปิดท้ายรถขายสินค้าเกษตรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 3 เดือน เพื่อระบายสินค้าเกษตร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากผลการดำเนินงานโครงการผักร่วมใจ ผักปลอดภัย ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากการเกษตรกร สามารถเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน รวม 32 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ น่าน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ ตาก พิจิตร ลำปาง ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร และภาคกลาง ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครปฐม กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 116 กลุ่ม 525 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 3,792.3 ไร่ และโดยเป็นสินค้าที่มีใบรับรอง GAP, เกษตรอินทรีย์, PGS, Thai GAP รวม 873 ใบ โดยในปี 2563 มีชนิดสินค้าเข้าสู่ตลาด 85 ชนิด ปริมาณ 36,434 ตัน สามารถสร้างรายได้แก่เกษตรกรกว่า 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้โครงการผักร่วมใจได้ผ่านการตรวจประเมินรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้า Q (Q Shop) จากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี โดยมีระยะเวลาการรับรอง 3 ปี
สำหรับข้อตกลงตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร กับ บริษัท ไทย แอ็กโกร เอ็กซเซนจ์ จำกัด (ตลาดไท) มีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสนับสนุนนโยบายตลาดนำการผลิต และส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และผลิตสินค้า ให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP หรืออื่นๆ พร้อมประชาสัมพันธ์ คัดเลือก และแนะนำกลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ไปส่งเสริมให้มีใบรับรองระบบการผลิต อาทิ GAP หรือใบรับรองการผลิตอื่นที่เชื่อถือได้ ในขณะที่ทางตลาดไท ได้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายสินค้า GAP พร้อมสนับสนุนการจัดทำ QR Code เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ การสนับสนุนข้อมูลรายชื่อชนิดพืชผักที่มีจำหน่ายน้อยและไม่ต่อเนื่อง ในโครงการฯ เพื่อเป็นข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร ในการส่งเสริมและการวางแผนการผลิตสินค้าผักปลอดภัยให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด การสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้เกษตรกรในอัตราพิเศษ แยกเป็นสัดส่วน สนับสนุนการตรวจวิเคราะห์สารพิษ บริหารข้อมูลด้านการตลาดให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานด้านการตลาดให้กับเจ้าหน้าที่และเกษตรกรที่สนใจ โดยในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด ตลาดไทสนับสนุนพื้นที่พิเศษให้เกษตรกรเปิดท้ายรถขายสินค้าเกษตรเพื่อระบายสินค้าเกษตร และมีเจ้าหน้าที่จากตลาดไทลงพื้นที่เพื่อให้แนวทางเกษตรกรในการผลิต การตลาด และการส่งสินค้าเข้าจำหน่ายในพื้นที่โครงการผักร่วมใจในจังหวัดต่างๆ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรอีกด้วย
ทั้งนี้ ทางตลาดไท แจ้งว่า เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการสินค้าผักบางชนิด เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดขอน และหน่อไม้ฝรั่ง จึงได้ปรับพื้นที่การค้าบนลานผักให้มีพื้นที่ผักหมุนเวียนจำหน่ายเปิดท้าย สำหรับเกษตรกร ผู้รวบรวมท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกผักรายใหม่มีโอกาสเข้ามาจำหน่ายผลผลิต และเชื่อมโยงการค้าโดยตรงกับผู้ซื้อ ผู้ค้า หรือผู้ประกอบการในตลาดไทได้ หากเกษตรกรสนใจเข้าร่วมการจำหน่ายสินค้าผักในพื้นที่ดังกล่าว สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่แผนกสรรหาและพัฒนาสินค้าจากแหล่งผลิต ตลาดไท หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ 08 9110 6130 และ 08 0919 0277 หรือ Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 0 2264 6264