กรมส่งเสริมการเกษตร จัดงานรณรงค์และประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายทดแทนข้าวนาปรัง

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดงานรณรงค์และประชาสัมพันธ์การส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย ทดแทนการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ณ หมู่ 2 แขวงลำต้อยติ่ง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างการรับรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ 23 จังหวัด หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทนการทำนาปรัง

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สืบเนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้งถึงแล้งจัดในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวนาปรัง ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะเสียหายจากการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรังขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดรอบการปลูกข้าว และรับมือปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร ในพื้นที่นาปรัง 23 จังหวัด พื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่ และให้ความรู้ในการเลือกปลูกพืชที่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งได้ในระดับหนึ่ง เพื่อประกอบการตัดสินใจและวางแผนการผลิตในรอบการเพาะปลูกถัดไป

สำหรับโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง จะดำเนินการใน 23 จังหวัด พื้นที่นาปรัง จำนวนตั้งแต่ 5,000 ไร่ขึ้นไป ประกอบด้วย ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงราย นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี แพร่ และตาก  ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และกรุงเทพมหานคร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ บึงกาฬ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร และอุบลราชธานี และภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา โดยจะมีการจัดทำแปลงเรียนรู้ขยายผลปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่นาปรังให้แก่เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการตามความสมัครใจและความต้องการ ดังนี้ 1) เน้นให้เกษตรกรรวมกลุ่ม โดยมีพื้นที่จัดทำแปลงเรียนรู้เท่ากับหรือมากกว่าจำนวนเกษตรกรที่รวมกลุ่ม 2) เกษตรกรจะได้รับปัจจัยการเรียนรู้ในการจัดทำแปลงเรียนรู้พืชหลากหลาย และจัดการผลผลิตจนถึงการจำหน่าย เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ ถุงหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อบรรจุสินค้าพืชหลากหลายในการจำหน่าย เป็นต้น 3) เกษตรกรเรียนรู้การผลิตพืชหลากหลาย ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับตลาด การผลิต และเชื่อมโยงการตลาด  ทั้งนี้ มีพืชหลากหลายชนิดที่เกษตรกรสามารถปลูกทดแทนการปลูกข้าวในฤดูนาปรังได้ ตัวอย่างเช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง พริก แตงโม ข้าวโพดหวานและอื่น ๆ ซึ่งเป็นพืชที่มีความต้องการใช้น้ำตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นไม่เกิน 120 วัน โดยเกษตรกรผู้ปลูกจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชทดแทนนาปรังอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 8,500 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับชนิดพืชที่เกษตรกรเลือกปลูก

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีการนำเสนอตัวอย่างเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้วประสบความสำเร็จ โดยเป็นเกษตรกรผู้ปลูกแตงโมทดแทนการปลูกข้าวในฤดูนาปรัง และการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกแตงโม จำนวน 4 สถานี ดังนี้

สถานีที่ 1 นำเสนอข้อมูลของเกษตรกรตัวอย่าง และเหตุผลในการเข้าร่วมโครงการฯ

สถานีที่ 2 นำเสนอวิธีการปลูกและการดูแลรักษาแตงโม

สถานีที่ 3 ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเก็บเกี่ยวและราคาจำหน่าย

สถานีที่ 4 ตัวอย่างผลสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการพืชหลากหลายของเกษตรกรผู้ปลูกแตงโม
เมื่อเปรียบเทียบกับการทำนาปรัง ทั้งในด้านของการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิต(เฉพาะเงินสด) และกำไรสุทธิ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูล พบว่า การทำนาปรังมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3,570 บาทต่อไร่ มีกำไรสุทธิ 2,830 บาทต่อไร่ ในขณะที่การปลูกแตงโม มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 14,000 บาทต่อไร่ และมีกำไรสุทธิ 25,000 บาทต่อไร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปลูกพืชหลากหลาย(แตงโม) ทำให้เกษตรกรได้กำไรสุทธิมากกว่าการทำนาปรังถึง 22,170 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง  สามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

**************************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : คันธรส ข่าว, เมษายน 2564