กรมส่งเสริมการเกษตร เผยผลสำเร็จส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง ทั้งเพิ่มผลผลิต มีคุณภาพ และสร้างรายได้

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมด้านพืช จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และ สิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมการป้องกันและกําจัดศัตรูแบบผสมผสาน การกําจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวล้วนแต่ก่อประโยชน์ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางด้านอาหาร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม งานส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเป็นอีกบทบาทภารกิจหนึ่งของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจมาเป็นเวลากว่า 40 ปี เพื่อใช้ในการช่วยผสมเกสรเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชผลทางการเกษตร

          การส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมนั้น ส่งผลให้ผลผลิตหลายชนิด มีความสมบูรณ์ มีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น อย่างการส่งเสริมการใช้ชันโรงช่วยผสมเกสรมะขามหวานในอำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินการในแปลงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมะขามแปลงใหญ่ ต.บ้านเสี้ยว และกลุ่มแปลงใหญ่มะขามหวานสหกรณ์การเกษตรฟากท่า ซึ่งใช้ชันโรงจำนวน 20 รัง เข้าไปส่งเสริมการผสมเกสรมะขามหวาน ใช้เวลา 12 สัปดาห์ ได้พื้นที่ 60 ไร่ ผลการดำเนินงานปรากฏว่า มะขามหวานที่ใช้ชันโรงช่วยผสมเกสรนั้นมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากเดิมในปีที่ผ่านมาได้ผลผลิต 250 กิโลกรัม/ไร่ ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเป็น 300 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตสมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว ได้ฝักใหญ่ มีการติดฝักสม่ำเสมอ มีความยาวฝักได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนผลผลิต และคุณภาพของผลผลิต นอกจากนั้น ยังช่วยสร้างความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ในพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ใกล้บริเวณรอยต่อกับพื้นที่ป่าและภูเขา เช่นในจังหวัดเลย จันทบุรี ระยอง สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี ระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร มักประสบปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากการขยายพื้นที่เพื่อเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าและภูเขา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของช้างป่า จึงทำให้ช้างป่าต้องออกมาหาอาหารกินในบริเวณพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ซึ่งการเลี้ยงผึ้งไล่ช้าง ทำโดยการวางรังผึ้งโพรง เป็นแนวรั้วกันขอบเขตระหว่างพื้นที่เกษตรและพื้นที่ป่า หลังจากที่ทำแล้วช้างลงมาทำลายผลผลิตลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหาย และไม่เป็นการทำร้ายช้างให้ได้รับบาดเจ็บ

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การเลี้ยงผึ้งเพื่อผสมเกสรจึงเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง เพราะการเกิดผลผลิตของพืชหลายชนิดต้องอาศัยแมลงผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพจากผึ้ง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มจำนวนผลผลิต และคุณภาพของผลผลิต และผลพลอยได้จากการเลี้ยงผึ้ง เช่น น้ำผึ้ง ไขผึ้ง และเกสรผึ้ง สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกด้วย ทั้งนี้ในวันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปี Food and Agriculture Organization (FAO) ได้เสนอให้เป็นวันผึ้งโลก (World Bee Day) พร้อมกับรณรงค์การใช้แมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างความเข้าใจถึงแนวทางการใช้แมลงเพื่อช่วยผสมเกสรให้พืชผลทางการเกษตร การใช้สารเคมีทางการเกษตรที่เหมาะสม และการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงผสมเกสรอย่างยั่งยืน สำหรับปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีการจัดกิจกรรมงานวันผึ้งโลกเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ภายใต้ Theme งาน “รักผึ้ง รักษ์โลก” สามารถรับชม live ได้ทาง เฟซบุ๊ก: สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร และ เฟซบุ๊ก: ประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร