นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่ไม้ผลภาคใต้กำลังให้ผลผลิตทยอยสู่ตลาดท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งปีนี้ได้รายงานว่า ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำมาก โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ตลาดภายในประเทศปิดทำการ ส่งผลทำให้กำลังซื้อลดลง และยังพบปัญหาผู้ประกอบการส่งออก (ล้ง) หยุดรับซื้อมังคุด เนื่องจากสภาพการขนส่งที่ไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ขนสินค้าออกไปต่างประเทศไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาให้บริการได้ทันท่วงที รวมถึงแคลนแรงงานฝีมือในการคัดบรรจุ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายมาจากภาคตะวันออก แต่ติดขัดในการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพื้นที่ต้องมีการตรวจคัดกรองและกักตัว ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน กรมส่งเสริมการเกษตรมิได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งดำเนินการหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรรกรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่แล้ว
ด้าน นายนิพนธ์ สุขสะอาด เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ปลูกมังคุด ประมาณ 96,000 ไร่ เกษตรกร จำนวน 30,199 ราย โดยในปี 2564 ผลผลิตมังคุดจังหวัดนครศรีธรรมราช แบ่งเป็นผลผลิตในฤดูจำนวน 57,000 ตัน เกรดส่งออกจำนวน 30,000 ตัน บริโภคภายในประเทศจำนวน 17,000 ตัน และที่เหลือเป็นมังคุดตกเกรดจำนวน 10,000 ตัน ผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม 2564 และจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม 2564 ขณะนี้เก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 17,000 ตัน จากผลการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1) ออกประกาศจังหวัดนครศรีธรรมราชกำหนดให้ล้ง/จุดรับซื้อผลผลิตมังคุดปิดป้ายราคารับซื้อที่ชัดเจนโดยอ้างอิงราคาที่พาณิชย์จังหวัดประกาศทุกวัน 2) ผ่อนปรนการกักตัวและการตรวจคัดกรองแรงงานจากภาคตะวันออกให้เข้ามาเป็นแรงงานเก็บเกี่ยว คัดแยกเกรดและการขนส่งมังคุด ทั้งนี้อยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข 3) ขอรับสนับสนุนแรงงานเสริมจากกองทัพภาคที่ 4 กองอาสารักษาดินแดน เข้ามาช่วยเหลือ ด้านแรงงาน กรณีแรงงานไม่พอ 4 ) ขอสนับสนุนงบประมาณค่าบริหารจัดการเปิดจุดรับซื้อ กิโลกรัมละ 3 บาท จากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และ 5) ขอสนับสนุนงบประมาณกล่องบรรจุภัณฑ์มังคุดเพื่อส่งเสริมการขายแบบออนไลน์ และตะกร้าหูเหล็กสำหรับการคัดเกรดมังคุด
ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการมังคุดครบวงจร ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช บริหารจัดการข้อมูลผลผลิตมังคุดเป็นรายวัน เพื่อขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 5 มาตรการ โดยทุกอำเภอต้องรายงานปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยว ราคาที่กำหนด บริหารจัดการแรงงานและตู้สินค้าบริการข้อมูล การรับออร์เดอร์ออนไลน์ และสรุปปัญหาอุปสรรคเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชทราบ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการส่งเสริมเกษตรกรให้กลุ่มแปลงใหญ่มังคุด วิสาหกิจชุมชนมังคุด ซึ่งเป็นผู้ผลิตมังคุดคุณภาพดีเป็นแกนนำ ในการรวมกลุ่มเพื่อรับซื้อมังคุดจากเกษตรกรรายย่อยและคัดเกรดส่งจำหน่ายให้ล้ง/จุดรับซื้อโดยตรง และประสานหาตลาดภายในประเทศเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งยังได้มีการประมูลแบบลาน โดยการนำรถขนมังคุดมาเปิดประมูลให้กับพ่อค้าที่สนใจมารับซื้อ และมีตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ช่วยกันตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การดำเนินการสนับสนุนแรงงานเสริมจากกองทัพภาคที่ 4 กองอาสารักษาดินแดน การจัดซื้อกล่องกระดาษจำนวน 1 แสนใบ และตะกร้าหูเหล็ก จำนวน 3 หมื่นใบ สามารถดำเนินการได้แล้ว ซึ่งคาดว่าในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มังคุดออกสู่ตลาดมากที่สุด มาตรการทั้ง 5 มาตรการ สามารถกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้เร็วที่สุด
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมถึง มาตรการให้ช่วยเหลือส่งออกมังคุดไปจีน ขณะนี้ทูตพาณิชย์และทูตเกษตรได้เข้าไปเจรจากับทางการจีนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และมีข้อเสนอแนะให้ผู้ส่งออกหันไปใช้การส่งออกมังคุดไปจีนผ่านด่านตงซิง และด่านสถานีรถไฟผิงเสียงแทน ซึ่งทางการจีนได้แจ้งว่าหากไทยไปใช้บริการผ่านด่านตงซิงและด่านสถานีรถไฟผิงเสียง ก็จะจัดเจ้าหน้าที่ไปคอยอำนวยความสะดวกให้ โดยเฉพาะด่านตงซิงมีรถบรรทุกไทยไปใช้บริการแค่วันละ 10-20 คันเท่านั้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ได้หารือกับสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทยเพื่อหาลู่ทางไปใช้ด่านตงซิง และด่านสถานีรถไฟผิงเสียงให้มากขึ้นต่อไป