กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการข้าว ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านข้าว เพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลที่สำคัญของทั้งสองหน่วยงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ประกอบการดำเนินนโยบายตามพันธกิจของหน่วยงาน และสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 21 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 โดยจัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมจักรพันธุ์ อาคารกรมการข้าว
นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกรครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วยการส่งเสริมการศึกษา วิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการให้บริการทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการทำงานส่งเสริมการเกษตรแบบ Digital DOAE ปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานด้วย Digital Transformation ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรมีการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรอยู่ในรูปแบบดิจิทัล เช่น 1) ข้อมูลด้านทะเบียนวิสาหกิจชุมชน 2) ข้อมูลส่งเสริมการเกษตรกรแบบแปลงใหญ่ 3) ข้อมูลเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Famer) 4) ข้อมูลศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) 5) ข้อมูลอาสาสมัครเกษตร 6) ฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช และโดยเฉพาะข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ได้รับขึ้นทะเบียนเกษตรกรตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พ.ศ. 2560 และมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เป็นนายทะเบียน รับขึ้นทะเบียนในกลุ่มผู้ปลูกพืชแมลงเศรษฐกิจ และเกลือทะเลไทย ในปี 2565 มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 7.2 ล้านครัวเรือน เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี 4.65 ล้านครัวเรือน เป็นเนื้อที่ 61 ล้านไร่
ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านข้าวครั้งนี้ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่สำคัญของทั้งสองหน่วยงาน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเห็นว่า เพื่อเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรไทยรวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้อย่างรอบด้าน นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาเกษตรกรและการบริการเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย และเพื่อเป็นการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าประสงค์และทำให้ข้อมูลที่ได้สอดคล้องไปในทางเดียวกัน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีการจัดเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและข้อมูลสารสนเทศอื่นๆ เกิดความร่วมมือทางวิชาการในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยรวมถึงการพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศโดยรวม