กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมส่งเสริมเกษตรกรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ ควบคุมโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่

          กรมส่งเสริมการเกษตร โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จ.สงขลา (ศทอ. สงขลา) สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส เผยผลการทดลองใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ในยางพารา การทดสอบเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถควบคุมเชื้อสาเหตุโรคใบร่วงยางพาราในดินได้ พร้อมเตรียมส่งเสริมเกษตรกรใช้แก้ปัญหาต่อไป

          นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า หลังจากที่โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ได้เริ่มระบาดครั้งแรกเมื่อปี 2562 ในจังหวัดนราธิวาส ทำให้สวนยางพาราของเกษตรกรได้รับความเสียหาย โดยจะทำให้ใบยางร่วงรุนแรง ต้นยางมีสภาพเสื่อมโทรม ต้องหยุดกรีดยางทำให้ผลผลิตยางลดลงมากกว่าร้อยละ 50  และหากมีใบร่วงหลายๆ ครั้ง อาจจะทำให้ยางยืนต้นตายได้ ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้ ศทอ.สงขลา พร้อมด้วยสำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส ทำการศึกษาทดลองในแปลงต้นแบบของเกษตรกร เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ

          โดย ศทอ.สงขลา ร่วมกับกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดนราธิวาส ทำการศึกษาคัดเลือกแปลงยางพารา ของนายบัณฑิตฐ์ เอียดเล็ก ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน ปลูกยางพาราพันธุ์ RRIM 600 อายุ 9 ปี ที่มีการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราอย่างรุนแรง ได้ทำการทดสอบโดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาในรูปแบบต่างกัน 2 กรรมวิธี คือ 1) ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดิน ในอัตราส่วน เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กก./น้ำ 200 ลิตร ทั่วทั้งแปลง เน้นรอบทรงพุ่ม และ 2) หว่านเชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดิน อัตราส่วน เชื้อราไตรโคเดอร์มา 50 กรัม 1 ตารางเมตร ทุก ๆ 4 เดือน

          ซึ่งผลการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี พบว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถควบคุมเชื้อสาเหตุของโรค Pestalotiopsis sp. และ Colletotrichum sp. ได้ค่อนข้างดี โดยมีกลไกเข้าทำลายเชื้อสาเหตุคือ แย่งอาหารและปัจจัยในการเจริญเติบโต พันรัดเส้นใยให้เหี่ยว ผลิตน้ำย่อย (enzyme) ออกมาย่อยสลาย อีกทั้งยังพบว่าเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถเจริญเติบโตยึดครองพื้นที่และควบคุมเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ได้ทั้ง 2 กรรมวิธี โดยจะควบคุมได้ดีในช่วง 1-3 เดือนหลังใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มา จึงมีคำแนะนำให้เกษตรกรใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มา ทุก ๆ 3 เดือนเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อไตรโคเดอร์มาในดิน เกษตรกรสามารถปรับวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ได้ นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เกษตรกร โดยแนะนำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเคมีตามคำแนะนำของ กยท. และโดโลไมท์อัตรา 400 กรัม/ต้น/ปี เพื่อปรับสภาพดิน ใช้สารเคมีพ่นบริเวณทรงพุ่มและพื้นดินรอบโคนต้น เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อสาเหตุต่อไป