นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 45 ปี ที่กรมส่งเสริมการเกษตรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและกระจายพืชพันธุ์ดีสู่เกษตรกร โดยในปี พ.ศ. 2519 ได้จัดตั้ง “ศูนย์ขยายพันธุ์พืช” ขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นแห่งแรก ตามโครงการผลิตและขยายพันธุ์พืช ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และพืชผัก ต่อมาเมื่อมีเทคโนโลยีด้านการขยายพันธุ์พืชใหม่ๆ เข้ามา จึงได้มีการจัดตั้ง “สถาบันเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อเกษตรกรรม” ขึ้นในปี
พ.ศ.2534 เพื่อทำหน้าที่ผลิตและกระจายพืชพันธุ์ดีด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นเหมือนต้นแม่ทุกประการ มีคุณภาพและปลอดโรค ส่งมอบให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูก และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กลุ่มงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” ในภายหลัง โดยมีภารกิจหลักคือ ผลิตพันธุ์พืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 4 ชนิด คือ กล้วย อ้อย มันฝรั่ง และหน่อไม้ฝรั่ง มีการส่งเสริมให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้แก่เกษตรกรและหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจ รวมทั้งยังได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ภาคเอกชนมีศักยภาพสามารถดำเนินการผลิตพันธุ์พืชจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เอง ตอบสนองต่อนโยบายการผลิตพืชพันธุ์ดีให้ได้มากขึ้น
กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักดีว่า ภารกิจในการผลิตและขยายพันธุ์พืชพันธุ์ดีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของภาคการเกษตรไทย จึงได้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน และจัดตั้ง “ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง” ขึ้นในปี พ.ศ. 2546 จำนวน 10 ศูนย์ ตั้งกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง)” และเพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีพันธุ์พืชพันธุ์ดีออกสู่ตลาด ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรและแก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์พืชที่มีคุณภาพและราคาแพง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดตั้ง “กองขยายพันธุ์พืช” ขึ้น
เพื่อดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) ซึ่งมีภารกิจหลักในการขยายพันธุ์พืชโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ให้มีศักยภาพในการดำเนินการผลิตและขยายพืชพันธุ์ดีใน 4 สายการผลิต คือ สายการผลิตต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อส่งต่อพืชพันธุ์ดีที่ได้รับจากหน่วยงานวิจัยกระจายไปสู่เกษตรกรให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์เดิมของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยงมีความเหมาะสมสำหรับการดำเนินการอยู่แล้ว ประกอบกับความสำเร็จของกรมส่งเสริมการเกษตรในการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถผลิตพันธุ์ดีและปลอดโรคได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับภาคการเกษตรไทย เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ศูนย์ขยายพันธุ์พืช ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร มีด้วยกัน 10 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 1 จังหวัดชลบุรี ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรังศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 7 จังหวัดมหาสารคาม ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 8 จังหวัดลำพูน ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี และ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี โดยแต่ละศูนย์มีพันธุ์พืชพันธุ์ดีให้บริการครบทุกรูปแบบ ทั้งเมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อที่เกษตรกรจะได้หลุดพ้นจากปัญหาไม่สามารถเข้าถึงพืชพันธุ์ดี และปัญหาพืชพันธุ์ดีมีราคาแพงได้ โดยการให้บริการพันธุ์พืชพันธุ์ดีในแต่ละศูนย์ฯ มีรายละเอียดดังนี้
ทั้งนี้ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทุกแห่ง กำลังพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้นไป ด้วยการเพิ่มช่องทางการรับข้อมูลพันธุ์พืชพันธุ์ดีที่มีจำหน่ายในศูนย์ต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกร ในรูปแบบออนไลน์ โดยคาดการณ์ว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2565 โดยจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์พืชพันธุ์ดีชนิดต่าง ๆ ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชให้บริการแก่เกษตรกรอยู่ในปัจจุบัน ประกอบด้วยข้อมูลชนิดพืช แหล่งจำหน่าย และช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับการบริการพืชพันธุ์ดีของศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 แห่ง สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลพันธุ์พืชกับศูนย์ขยายพันธุ์พืชได้ทันที เกษตรกรทุกท่านมั่นใจได้ในคุณภาพ “พืชพันธุ์ดีต้องที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร”