นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการดำเนินการพัฒนาธุรกิจโดยการสนับสนุนวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด แล้วนั้น กรมฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยเก็บข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาให้เกิดระบบช่วยในการตัดสินใจการใช้ปุ๋ยให้แก่เกษตรกร และการบริหารเชิงธุรกิจของ ศดปช. โดยใช้ชื่อว่า “รู้ดิน รู้ปุ๋ย”
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนความคืบหน้าของโครงการ ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 9 ก.ค. 64 ผลการดำเนินงานเบิกจ่าย + PO ร้อยละ 77.95 เป็นเงิน 132.42 ล้านบาท หากจำแนกตามประเภทของกิจกรรม มีความคืบหน้าดังนี้ การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคและการบริหารธุรกิจ และการจัดเวทีเชื่อมโยงเครือข่าย ศดปช. ศพก. และ แปลงใหญ่ ดำเนินการครบแล้ว 394 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 100 ด้านการจัดซื้อจัดหาวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์แล้ว โดยแต่ละ ศดปช. จะได้รับวัสดุการเกษตรและครุภัณฑ์ ประกอบด้วย ชุดตรวจวิเคราะห์ดิน ส่งมอบแล้ว 62 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 98.44 แม่ปุ๋ย ส่งมอบแล้ว 62 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 98.44 เครื่องผสมปุ๋ย ส่งมอบแล้ว 57 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 90.47 ในส่วนการให้บริการในเชิงธุรกิจ การจดทะเบียนขายปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 387 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 98.22 การให้บริการตรวจวิเคราะห์ดิน ดำเนินการแล้ว 378 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 95.94 มีผู้ใช้บริการแล้ว 77,980 ราย การให้บริการจำหน่ายปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 273 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 69.29 จำหน่ายปุ๋ยแล้ว 35,949 กระสอบ และการให้บริการเครื่องผสมปุ๋ย ดำเนินการแล้ว 241 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 61.17 บริการผสมปุ๋ยแล้ว 1,123.402 ตัน
ด้านการจัดทำแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น ขณะนี้ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นก้าวหน้าไปแล้ว ร้อยละ 68 ใช้ชื่อว่า “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” เพื่อให้เกษตรกรทั้งสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน และเกษตรกรทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทั้งในส่วนของการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงดิน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจดินปุ๋ยของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน เช่น การให้บริการสั่งจองปุ๋ย การคำนวณปุ๋ย ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องแม่นยำ ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนด้านปุ๋ยเคมีลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยคาดว่าแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่น “รู้ดิน รู้ปุ๋ย” จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมเปิดใช้บริการในปลายเดือนสิงหาคม 2564
นอกจากจะเป็นประโยชน์กับเกษตรกรแล้ว ฐานข้อมูลและรายงานที่ได้รับจากแพลตฟอร์มสามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการจัดการดินปุ๋ยที่ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น อันจะเกิดประโยชน์กับประเทศโดยรวมต่อไป อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติม