เกษตรเตรียมพร้อมแนวทางบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตร ตามมาตรการยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีมติอนุมัติมาตรการยกระดับควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยจำกัดการเคลื่อนย้ายและลดการรวมกลุ่มของบุคคลให้มากที่สุด รวมทั้งการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 04.00 น. เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมกับขอความร่วมงดเดินทางข้ามจังหวัด โดยมีเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยลงภายใน 2-4 สัปดาห์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่อาจจะได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาด้านการตลาด การขนส่ง และการกระจายสินค้าเกษตรจากมาตรการดังกล่าว จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมพร้อมมาตรการในการบริหารจัดการการตลาดสินค้าเกษตรด้านพืช เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับกำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เร่งรัดขับเคลื่อนงานตามมาตรการที่ได้สั่งการต่อไป

          กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตและตลาดสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับประเทศ และได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับรับทราบและปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว โดยการจัดการระดับพื้นที่ ในระดับอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรอำเภอติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์การผลิตการตลาดสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง และในระดับจังหวัดให้ดำเนินการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งพาณิชย์จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ให้บริหารจัดการสินค้าในพื้นที่โดยการจัดหาแหล่งรับซื้อผลผลิต และใช้พื้นที่ใน “ตลาดเกษตรกร” ทั้ง 77 จังหวัด ที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้งขึ้น รวมทั้งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์การจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมทั้งเสนอคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) พิจารณาแก้ไขปัญหาต่อไป

          การจัดการระดับส่วนกลาง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 – 6 และกรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน กรณีที่ระดับพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจะประสานงานจัดหาช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าด้านการเกษตรต่าง ๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลาด Modern trade เช่น Tesco Lotus, Big C และ Makro ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดเฉพาะกิจ เช่น จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด การส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และช่องทางตลาดอื่น ๆ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับบริษัทขนส่ง เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด บริษัท Kerry จำกัด และบริษัท ปอลอ เอ็กเพลส เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่จำหน่ายสินค้าด้านการเกษตรออนไลน์ ด้วยการลดราคาค่าขนส่งสินค้า

          การจัดการระดับประเทศ ในกรณีของพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญซึ่งมีการบริหารจัดการทุกมิติอยู่แล้ว โดยคณะกรรมการบริหารระดับประเทศ (บอร์ด) เช่น ผลไม้ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย เป็นต้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการนำเสนอบอร์ดที่กรมฯ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ และประสานงานกับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการของบอร์ดอื่น นำเสนอบอร์ดของชุดนั้นเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยเร็วต่อไป​

          อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรยังได้ดำเนินการ “โครงการแบ่งปันน้ำใจ เกษตรไทยสู้ภัยโควิด-19” ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานเชื่อมโยง ส่งมอบสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภคจากหน่วยงานในสังกัด ภาคีเครือข่าย และเกษตรกร ตลอดจนจัดซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรที่ประสบปัญหาสินค้าล้นตลาด ราคาตกต่ำ ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาของเกษตรกรในช่วงการระบาดของโควิด – 19 ด้วยอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งมอบสินค้าเกษตรคุณภาพ ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับหน่วยงานและประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ต่าง ๆ ไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 249 ครั้ง ในพื้นที่ 42 จังหวัด ซึ่งจะขยายพื้นที่ดำเนินงานโครงการให้มากขึ้นต่อไป จนกว่าสถานการณ์การระบาดจะดีขึ้น