นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลง จึงทำให้ประเทศไทยมีความหลากหลายของชนิดแมลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยในการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากแมลงมานาน นับเป็นจุดแข็งที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพในการเลี้ยงแมลงให้เป็นแมลงเศรษฐกิจได้ ช่วยสร้างอาชีพ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรทั้งที่เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม สามารถสร้างอาชีพและรายได้หมุนเวียนให้แก่เกษตรกรทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
สำหรับสถานการณ์การผลิตการตลาดแมลงเศรษฐกิจ ในปี 2563/64 มีดังนี้
1.ผึ้งพันธุ์ มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งพันธุ์กว่า 1,248 ราย จำนวนรังประมาณ 360,395 รัง จากการรายงานของ FAO ปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณผลผลิตน้ำผึ้งเป็นอันดับสองของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 36 ของโลก นอกจากนี้การบริโภคน้ำผึ้งภายในประเทศขณะนี้มีปริมาณสูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุ และมีกระแสการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
2.ผึ้งโพรง มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งโพรงกว่า 23,922 ราย จำนวนรังประมาณ 168,944 รัง น้ำผึ้งจากผึ้งโพรงเป็นที่นิยมมากของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพและชื่นชอบในความหอมแบบเฉพาะตัวของน้ำผึ้ง เกษตรกรจึงมีรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่นจากการเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นอย่างดี และลงทุนไม่สูงมากทำให้อาชีพการเลี้ยงผึ้งโพรงเป็นที่นิยม และมีจำนวนเกษตรกรสนใจเลี้ยงผึ้งจากทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกปี
3.ชันโรง มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงกว่า 2,828 ราย จำนวนรังประมาณ 16,546 รัง ซึ่งการเลี้ยงชันโรงเป็นที่นิยมของเกษตรกรในภาคตะวันออกและภาคใต้เป็นอย่างมาก เกษตรกรจะเลี้ยงชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรในสวนของตัวเอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการติดดอกออกผลของพืชผลทางการเกษตร และจะได้รับผลพลอยได้จากการเลี้ยงชันโรงเป็นน้ำผึ้งและพรอพอลิส การเลี้ยงชันโรงจึงเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก
4.จิ้งหรีด มีจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดกว่า 25,218 ราย มีจำนวนบ่อประมาณ 272,922 บ่อ จิ้งหรีดสามารถเลี้ยงได้ตลอดทั้งปีและสามารถเลี้ยงได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ปัจจุบันสามารถส่งออกจิ้งหรีดในรูปแบบจิ้งหรีดผงไปยังต่างประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมีอีกหลายประเทศที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาในการนำเข้า
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้อนุมัติงบประมาณโครงการพัฒนาแปลงเรียนรู้และขยายพันธุ์สินค้าเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งรวมถึงสินค้าแมลงเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง และจิ้งหรีด โดยโอนงบประมาณในการผลิตขยายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจและการจัดทำแปลงเรียนรู้ให้กับศูนย์ปฏิบัติการ จำนวน 27 แห่ง เพื่อผลิตและขยายพันธุ์แมลงเศรษฐกิจให้เพียงพอตามความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ และสนับสนุนกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ ในปีงบประมาณ 2565 อีกด้วย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และขยายผลส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ ต่อมาได้พัฒนาและขยายงานส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจไปยังแมลงชนิดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ผึ้งโพรง ชันโรง จิ้งหรีด ครั่ง เป็นต้น