นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลการดำเนินงานโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานใน 2 กิจกรรม คือ 1) กิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านพืช และ 2) กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด โดยกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้ และสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้านพืช ให้เหมาะสม ตามสภาพพื้นที่ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า มีการเบิกจ่ายกิจกรรมส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านพืชในภาพรวม จำนวนกว่า 37.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 91.79 ของงบประมาณที่ได้รับ ครอบคลุมจำนวนเกษตรกร 26,040 ราย คิดเป็นร้อยละ 92.97 ของเกษตรกรเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ โดยอุปสรรคที่สำคัญในส่วนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ คือ เกษตรกรลาออกจากโครงการ หรือสภาพพื้นที่ของเกษตรกรไม่เหมาะสำหรับการขุดบ่อเก็บน้ำ ส่วนของการดำเนินการที่ยังล่าช้า เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น รอเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จ พื้นที่ขุดสระไม่เก็บกักน้ำ เป็นต้น
สำหรับด้านกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด พบว่า มีกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลต้นแบบ รวมทั้งสิ้น 106 กลุ่ม ดำเนินการครอบคลุมในพื้นที่ 129 ตำบล แบ่งเป็น ภาคเหนือ 16 จังหวัด จำนวน 22 กลุ่ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด จำนวน 36 กลุ่ม ภาคกลาง 22 จังหวัด จำนวน 25 กลุ่ม และภาคใต้ 14 จังหวัด จำนวน 23 กลุ่ม โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาอาชีพและการตลาด ทั้ง 8 ด้านเสร็จสิ้นแล้วตามระยะเวลาโครงการฯ ดังนี้ 1) การคัดเลือกและประเมินศักยภาพเกษตรกร คิดเป็นร้อยละ 99.66 2) การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลต้นแบบ จัดทำแผนพัฒนา และเพิ่มศักยภาพกลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 89.62 3) การจัดกระบวนการเรียนรู้ด้านการผลิตและการตลาด คิดเป็นร้อยละ 74.53 4) การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตตามแผนพัฒนากลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลต้นแบบ คิดเป็นร้อยละ 69.81 5) การเตรียมความพร้อมด้านการตลาดของกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ตำบลต้นแบบ คิดเป็นร้อยละ 59.43 6) การส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิต คิดเป็นร้อยละ 46.23 7) การผลักดันสู่วิสาหกิจชุมชนที่พึ่งตนเองได้ คิดเป็นร้อยละ 41.51 และ 8.) การพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ คิดเป็นร้อยละ 28.30
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 บรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร มีทางเลือก มีอาหาร มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความอบอุ่นจากครอบครัว แล้วความสุขตามวิถีชีวิตพอเพียงก็จะเกิดขึ้นกับชุมชน จึงจัดทำโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่และเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี รวมถึงฟื้นฟูภาคเกษตร หลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง