
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ Field Day เพื่อเตรียมความพร้อม และเสริมองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ให้กับเกษตรกร โดยการจัดงานครั้งล่าสุด จัดโดยสำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ วัดพระราม อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุทธยา ซึ่งได้เชิญเกษตรกรผู้ประสบความสำเร็จในการทำนาคือ นายอุดร สมบุญทวงค์ ที่มีประสบการณ์ทำนากว่า 24 ปี ด้วยวิธีผสมผสาน ใช้สารชีวภาพเป็นหลัก ลดการใช้สารเคมี และได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบ 100 ตัน จากพื้นที่ 76 ไร่ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ ระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวที่มีประสิทธิภาพ เทคนิคการผสมปุ๋ยใช้เองตามค่าวิเคราะห์ดิน การป้องกันโรคข้าวด้วยน้ำหมักชีวภาพที่มีส่วนผสมของมะกรูดเปลือกมังคุดอ้อยแดง 10 กิโลกรัม ผสมกากน้ำตาลและน้ำส่วนละ 5 ลิตร และวิธีบำรุงต้นข้าวด้วยฮอร์โมนนมสด ซึ่งผสมนมสด 5 ลิตรเข้ากับกากน้ำตาลหรือน้ำเชื่อม 5 ลิตร แป้งข้าวหมาก 1 ลูก และนมเปรี้ยว 1 ขวด ตลอดจนวิธีการใช้ฮอร์โมนไข่ ที่มีส่วนผสมเช่นเดียวกัน เพียงเปลี่ยนนมสดเป็นไข่ไก่ 5 กิโลกรัม ซึ่งวิธีใช้งานบำรุงในนาข้าวเพียงผสมฮอร์โมนนมสดหรือฮอร์โมนไข่ 1 ลิตร กับน้ำ 200 ลิตร ก็สามารถฉีดพ่นในนาได้ถึง 5 ไร่


สำหรับการจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมฐานการเรียนรู้จำนวน 5 ฐาน ประกอบด้วย 1) ฐานเรียนรู้ของศูนย์วิจัยข้าวพระนครศรีอยุธยาและแปลงใหญ่ เรียนรู้ลักษณะของพันธุ์ข้าวตามอายุการเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 90 – 120 วัน ข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละพันธุ์ ความนิยมของผู้บริโภค และความต้องการรับซื้อของโรงสี 2) ฐานเรียนรู้สถานีพัฒนาที่ดิน เรียนรู้สารย่อยสลายฟางชนิดต่างๆ น้ำหมักที่ใช้ในการย่อยสลายฟางข้าว การบำรุงตินด้วยจุลินทรีย์ต่างๆ และเทคนิคการผลิตจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 3) ฐานเรียนรู้สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์พระนครศรีอยุธยา จัดแสดงนิทรรศการ “การจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย บัญชีครัวเรือน บทบาทหน้าที่ของครูบัญชีอาสาต่อการดำเนินงาน ศพก. 4) ฐานเรียนรู้กระบวนการทำนาของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ 5) ฐานเรียนรู้การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานตามกระบวนการเรียนรู้โรงเรียนเกษตรกร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินภารกิจในการจัดงาน Field Day เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริงมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ ช่องทางการตลาด แหล่งข้อมูล การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน และใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตรที่มีเกษตรกรผู้นำเป็นผู้บริหารจัดการภายใต้การสนับสนุนของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสถานที่จัดงาน สำหรับเกษตรกรและผู้ที่สนใจรับความรู้ในงานฟิวเดย์ สามารถสอบถามรายละเอียด วัน เวลา และสถานที่จัดงานประจำจังหวัดของตนได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน


***************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร : นาฏสรวง ข่าว/ มีนาคม 2565 ข้อมูล: สำนักงานเกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมส่งเสริมการเกษตร