กรมส่งเสริมการเกษตร จัดกิจกรรมงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลการผลิตใหม่ หรือ Field Day ปี 2565 เพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชน ให้เกษตรกรได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็งของเกษตรกร ณ แปลงสับปะรดของ นายสมชาย ทองประเสริฐ เกษตรกรหมู่ที่ 10 ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจากอำเภอเขาย้อย อำเภอแก่งกระจาน และอำเภอท่ายาง เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สร้างกลไกการถ่ายทอดความรู้ที่จำเป็นสู่เกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ซึ่งหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องร่วมกันนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสินค้าหลัก และเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ รวมทั้งประยุกต์องค์ความรู้ต่างๆ เกิดองค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง การจัดกิจกรรม Field Day จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2565 ช่วยให้เกษตรกรนำองค์กรความรู้ไปประยุกต์ใช้ เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ สร้างผลตอบแทนได้เป็นอย่างดี เกษตรกรมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ การลดต้นทุนกระบวนการผลิต ที่ช่วยให้สามารถแข่งขันด้านราคาได้ดีขึ้น การเพาะปลูกตามความเหมาะสมของดินและการปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด การเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน และลดการพึ่งพากลไกราคาด้วยการทำไร่นาสวนผสม เศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ด้วยการแปรรูปผลผลิต รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ
ด้าน นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า งานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีจัดขึ้นเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2565 เป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชน ให้เกษตรกรได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็งของเกษตรกร โดยการจัดครั้งนี้ เน้นการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการปลูกสับปะรดไปสู่เกษตรกร ด้วยอำเภอหนองหญ้าปล้องเป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี และเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร
สำหรับกิจกรรมการเรียนรู้ จะแบ่งเป็น 5 สถานีถ่ายทอดความรู้ ประกอบด้วย สถานีเรียนรู้ที่ 1 เพิ่มผลผลิต การคัดหน่อพันธุ์ โรคเหี่ยวในสับปะรด และแผนการผลิต โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร สถานีเรียนรู้ที่ 2 ลดต้นทุน สาธิตการใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับการให้ปุ๋ยทางใบ และการใช้สารชีวภัณฑ์ โดย ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน สถานีเรียนรู้ที่ 3 พัฒนาคุณภาพผลผลิต สาธิตเทคโนโลยีการให้น้ำเพื่อพัฒนาคุณภาพสับปะรด โดย ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเพชรบุรี สถานีเรียนรู้ที่ 4 เพิ่มมูลค่า สร้างทางเลือก สาธิตการผลิตอาหารสัตว์จากสับปะรด โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี และอาชีพทางเลือก โดย ปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรี/ประมงจังหวัดเพชรบุรี และสถานีเรียนรู้ที่ 5 ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม