นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เป็นทุเรียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นทุเรียนที่อร่อยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ปลูกบริเวณภูเขาไฟโบราณ แถบเทือกเขาพนมดงรัก เป็นดินที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ จึงมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช เกษตรกรใช้น้ำใต้ดินลึกกว่า 50-100 เมตร มารดต้นทุเรียน ทำให้เนื้อทุเรียนมีเนื้อนุ่มเหนียว เส้นใยละเอียด กลิ่นหอม ไม่ฉุนมาก และรสชาติหวานกรอบ จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืช จากที่เคยปลูกเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ก็เปลี่ยนมาปลูกทุเรียน เงาะ ลำไย ลองกอง มังคุด สละ และสะตอ มากขึ้น โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เข้าไปถ่ายทอดให้ความรู้ ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ และเกษตรกรทยอยปลูกผลไม้เหล่านี้มากขึ้นในพื้นที่อำเภอขุนหาญ กันทรลักษ์ และศรีรัตนะ
ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรที่ปลูกทุเรียน 2,350 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกทุเรียน 15,111 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 5,721 ไร่ ยังไม่ให้ผลผลิต 9,390 ไร่ พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์หมอนทอง คาดการณ์ปริมาณผลผลิตทุเรียนในปีนี้ไว้ที่ 7,522 ตัน โดยปริมาณผลผลิตในปี 2565 จะเพิ่มขึ้น 2,758 ตัน คิดเป็นร้อยละ 57.8 ของผลผลิตในปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2,108 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 58 ของพื้นที่ให้ผลผลิตของปีที่ผ่านมา โดยราคาขายปลีกหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 170-190 บาท คาดว่าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในปีนี้กว่า 1,353.96 ล้านบาท
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายน นี้ มีการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าการเกษตร สินค้าวิสาหกิจชุมชน/OTOP ผลิตภัณฑ์ของ Young Smart Farmer มีเวทีแสดงศิลปวัฒนธรรม และการสัมมนาให้ความรู้ด้านต่าง ๆ จึงขอเรียนเชิญนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เข้าร่วมงานดังกล่าว เพื่ออุดหนุนทุเรียน ซื้อสินค้าพื้นเมือง ตามสโลแกน ชิม ช็อป ชิลล์ อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ผ่อนคลาย หลังได้รับผลกระทบจากจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา