นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนนโยบายในด้านการพัฒนาเกษตรกร องค์กรเกษตร โดยยึดแนวทาง “เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” บนหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีส่วนร่วมและการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการให้เกษตรกรมีความรู้รอบด้าน เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ด้านการเกษตร กรมฯ จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างครัวเรือนเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกว่าหนึ่งในสามมีแรงงานสูงวัยซึ่งเป็นหัวหน้าครัวเรือน ประชากรมีสัดส่วนวัยแรงงานและวัยเด็กที่ลดลง ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่สังคมเกษตรสูงวัย โดยการจัดโครงการส่งเสริมเคหกิจเกษตรในครัวเรือนเกษตรสูงวัย และจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้นำการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรสูงวัยระดับประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านเคหกิจเกษตรและสร้างโอกาสการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และสามารถพึ่งพาตนเองได้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสูงวัยสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในครัวเรือนและเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมเกษตรสูงวัยได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนเกษตรสูงวัย และเกิดเครือข่ายเกษตรกรสูงวัยเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้ต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่ายผู้นำการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพของกลุ่มเกษตรสูงวัยระดับประเทศ ในวันที่ 4-5 สิงหาคม 2565 ณ กรมส่งเสริมการเกษตร ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย กลุ่มเกษตรกรสูงวัย จังหวัดละ 5 ราย รวม 385 ราย และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การแสดงนิทรรศการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานเด่นของกลุ่มเกษตรกรสูงวัยเพื่อสร้างอาชีพ การบรรยายหัวข้อการส่งเสริมสวัสดิการและการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ การเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ การจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกรสูงวัย และการอาชีพทางเลือกเพื่อสร้างรายได้ของเกษตรกรสูงวัย เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้สังคมเกษตรสูงวัยมีคุณภาพและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการผลิตและการบริการในการเข้าสู่สังคมเกษตรสูงวัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อคุณภาพแรงงานและผลิตภาพ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นสูง แรงงานไม่สามารถทดแทน โดยเทคโนโลยีหรือปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ได้ง่ายนัก การจัดสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นการพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสการประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรสูงวัยและสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพได้อย่างยั่งยืน