เกษตรร่วมสนองพระราชดำริโครงการเกษตรวิชญา พัฒนาอาชีพด้านการเกษตรและการปลูกพืชแบบอินทรีย์ให้เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร ยึดแนวทางศูนย์เรียนรู้เกษตรวิชญา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร เน้นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมส่งเสริมเกษตรกรลดใช้สารเคมีในการปลูกพืช และเลี้ยงผึ้ง ชันโรง เพิ่มรายได้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมสนองการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา โดยมุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร และการปลูกพืชแบบอินทรีย์เป็นหลัก พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางการประกอบอาชีพทางการเกษตร และการดำเนินชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งขยายผลองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยงานในสังกัดร่วมดำเนินงาน ดังนี้ 1) สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ในการผลิตพืชปลอดภัยจากสารพิษ เน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทดแทนการใช้สารเคมี พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต และจัดทำแปลงสาธิตผลิตพืชและไม้ผลบนพื้นที่สูง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งรวบรวม และขยายพันธุ์ไม้ผลบนพื้นที่สูงที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจได้มาศึกษาหาความรู้ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป
2) ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำแปลงรวบรวม และขยายพันธุ์พืชสมุนไพรที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ในการสนับสนุนพืชสมุนไพรพันธุ์ดีตามความต้องการ
ของเกษตรกรในพื้นที่ และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พืชสมุนไพรในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และโรคพืช ทดแทนการใช้สารเคมี สร้างความยั่งยืนในการทำการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3) ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งจุดเรียนรู้การเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงผึ้งโพรง และชันโรง ใช้เป็นแมลงผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับไม้ผล โดยเฉพาะชันโรงซึ่งเป็นแมลงผสมเกสรที่ไม่มีการเลือกเฉพาะเจาะจงกับชนิดของดอกไม้ สามารถผสมเกสรพืชได้หลากหลายชนิดมากกว่าผึ้งชนิดอื่นๆ จึงทำให้น้ำผึ้งจากชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูงและมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งธรรมดาหลายเท่า ปัจจุบันมีราคาลิตรละ 1,500 บาท การเลี้ยงชันโรงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลที่ต้องการใช้แมลงในการผสมเกษรเพื่อเพิ่มผลผลิต และยังมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายน้ำผึ้งอีกด้วย และ 4) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำแปลงเรียนรู้พืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้หลักสูตรการปลูก และการแปรรูปพืชผักสมุนไพร
พร้อมทั้งจัดทำแปลงต้นแบบการปลูกพืชสมุนไพรในพื้นที่เกษตรกร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มาศึกษาหาความรู้ และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการเกษตรวิชญา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแหะ หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2545 เพื่อใช้ในกิจการของทางราชการอันก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมต่อหน่วยราชการ สถานศึกษา และราษฎรเป็นอย่างมาก และทรงมีพระราชดำริให้พิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยการวิเคราะห์ข้อมูลทางกายภาพและความเหมาะสม  และต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรบ้านกองแหะ
ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ว่า “เกษตรวิชญา” มีความหมายว่า “ปราชญ์แห่งการเกษตร”  โดยมีคณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา ซึ่งมีนายจรัลธาดา กรรณสูตร องคมนตรี เป็นประธานที่ปรึกษา ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นกรรมการ
และอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เป็นกรรมการและเลขานุการในการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการเกษตรวิชญา

******************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ข่าว : กรกฎาคม 65