กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือ DEPA ลงนาม MOU สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตรกับ DEPA มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรกรมส่งเสริมการเกษตร และบุคลากรภาคการเกษตรให้เข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการผลิตและการตลาดตลอดทั้งห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทาน ส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตรทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านการเกษตรในรูปแบบของการเป็น Service Provider และ Service Solution เพื่อยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบการตรวจสอบและเชื่อมโยงฐานข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนงานหรือโครงการส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร และส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรสู่การเป็นเกษตรดิจิทัล โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้มีผลบังคับใช้เป็น ระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ถึงวันที่ 23 สิงหาคม 2570

สำหรับความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ 1. โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบการและ 2. โครงการสร้างผู้ประกอบการให้บริการเกษตรอัจฉริยะ (Agriculture Service Provider : ASP) ซึ่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้โครงการที่ 1 จะขอรับการสนับสนุนตามมาตรการคูปองดิจิทัล (mini transformation voucher) เพื่ออุดหนุนเกษตรกร ภายในวงเงิน 10,000 บาท/คูปอง/คน รวมทั้งสิ้น 200 คูปอง วงเงิน 2,000,000 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานของทั้งสองหน่วยงาน  และเกิดการบูรณาการทำงานความร่วมมือกันให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรและการให้บริการเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่เกษตรกร มุ่งเน้นการยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีดิจิทัล โดยต่อยอดการดำเนินงานมาจากโครงการส่งเสริมและพัฒนาต้นแบบเกษตรอัจฉริยะ กิจกรรมความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ “ระบบบริหารจัดการแปลงเกษตรด้วยระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในพื้นที่เป้าหมาย 16 แห่ง ซึ่งได้ติดตั้งอุปกรณ์ระบบเกษตรอัจฉริยะ HandySense และดำเนินการการถ่ายทอดความรู้สู่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรและประชาชนที่สนใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า การส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตรนับว่าเป็นการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรในโครงการต่าง ๆ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันไปสู่การเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่มุ่งสู่เกษตร 4.0 และการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานราก โดยการสนับสนุนและส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์ นวัตกรรม รวมทั้งเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อยกระดับสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ พร้อมทั้งการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในประเด็นการเกษตร โดยมีจุดเน้นในด้านการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) คือ มีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในภาคการเกษตร และในขณะเดียวกันเกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลด้านการเกษตรได้ง่าย และสะดวก ตลอดจนการพัฒนาความรู้และทักษะการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่

******************************

กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ : ข่าว

กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่นและนวัตกรรมด้านการเกษตร กองวิจัยและพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร : ข้อมูล