
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า อาชีพกสิกรรมถือเป็นอาชีพหลักของประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่กับพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืนและปลอดภัยจากสารเคมี และผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลให้ศัตรูพืชปรับตัว มีการกระจายพันธุ์และออกหาพืชอาหารเพื่อการดำรงชีวิตมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตพืชผลทางการเกษตรและการจัดการศัตรูพืชเป็นอย่างมาก ซึ่งการจัดการศัตรูพืชด้วยสารเคมีเพียงอย่างเดียว จะส่งผลให้ศัตรูพืชมีความต้านทานต่อสารเคมี ในระยะยาวประสิทธิของการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชก็มีแนวโน้มที่ลดลง อีกทั้งยังส่งผลผกระทบต่อความปลอดภัยของเกษตรกร ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ช่วยให้เกษตรกรผลิตอาหารและกำจัดศัตรูพืชได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเน้นในด้านการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสานสู่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการศัตรูพืชประสบความสำเร็จ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดตั้ง ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัด 882 อำเภอ แบ่งออกเป็น ศจช.หลัก จำนวน 882 แห่ง และ ศจช.เครือข่าย จำนวน 882 แห่ง รวม 1,764 แห่ง พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการเกษตรและชุมชนด้านการจัดการศัตรูพืช รวมถึงได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการศัตรูพืช นำไปพัฒนาชุมชนของตนเอง จากความสำเร็จในการดำเนินการศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนในระดับพื้นที่ ซึ่งช่วยลดการระบาดของศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานผ่านการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้างขึ้น ระหว่างวันที่ 9 – 27 สิงหาคม 2565 ขึ้น เพื่อถ่ายทอดความสำเร็จด้านการจัดการศัตรูพืช ผ่านศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนของกรมส่งเสริมการเกษตรให้แก่นักวิชาการเกษตรจากประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา ราชอาณาจักรไทย จำนวน 36 คน ได้เข้ารับการพัฒนาความรู้ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการทำ workshop และการศึกษาดูงานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน สวนและไร่นาของเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศัตรูแบบผสมผสานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ลำพูน และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงจะได้รับการพัฒนาให้เป็นวิทยากรกระบวนการ (Training of Trainer: TOT) ด้านการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน และแผนปฏิบัติการจัดตั้งหรือพัฒนาศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากแต่ละประเทศได้เขียนขึ้นมานั้น ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ตามความเหมาะสมต่อบริบทของแต่ละประเทศต่อไป
*************************************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร: ข่าว
กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย : ข้อมูล









