นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเดินหน้าสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และร่วมหารือแนวทางบริหารจัดการสถานการณ์
การระบาดกับเกษตรกรในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคใบด่างมันสำปะหลังเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากการที่คณะผู้บริหารของกรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง และร่วมเจรจากับพี่น้องเกษตรกรตลอดจนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใน จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังสำคัญของประเทศ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโรคใบด่างมันสำปะหลังได้โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุดนั้นพบว่า เกษตรกรรับรู้และให้ความสำคัญกับการใช้พันธุ์มันสำปะหลังทนทานต่อโรค ได้แก่ พันธุ์ระยอง 72 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และพันธุ์ห้วยบง 60 เพื่อลดการติดโรคและการแพร่ระบาด ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนพืชปลูกหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชเเซมมันสำปะหลัง ได้เเก่ ฝรั่ง มะละกอ เเละทุเรียน ซึ่งสร้างรายได้ทดแทน โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถลดพื้นที่การปลูกมันสำปะหลังและลดพื้นที่การระบาดไม่ให้ขยายวงกว้างได้ในอนาคต
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกพืชทดแทนมันสำปะหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาโรคใบด่าง หรือการปลูกพืชแซมมันสำปะหลัง คาดว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคลงได้ โดยพืชผลเศรษฐกิจที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของโลก เละปัจจุบันตลาดยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ในการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด เกษตรกรควรทำการวิเคราะห์สภาพของดินและความเหมาะสมในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองก่อนการเพาะปลูก เพื่อประเมินความคุ้มทุน และควรปลูกพืชผสมผสาน ป้องกันการถูกโจมตีหรือเข้าทำลายโดยศัตรูพืชชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบสูง
สำหรับพืชอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบ พาหะนำโรคใบด่างมันสำปะหลัง ได้แก่ กะเพรา โหระพา
มันฝรั่ง พืชตระกูลพริกมะเขือ พืชตระกูลถั่ว และวัชพืชที่ติดมากับพืชอาศัย เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรหลีกเลี่ยงการปลูกพืชอาศัยดังกล่าวในบริเวณพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกมันสำปะหลัง
อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงหวี่ขาวยาสูบด้วย ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน
*************************
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์: นาฏสรวง/ข่าว สิงหาคม 2565 ที่มา : กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร