นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันภาคการเกษตรยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งแรงงานภาคการเกษตรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ประกอบกับที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรน้อยลง กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดทิศทางของแผนพัฒนาการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลดลงของแรงงานในภาคเกษตร และให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการพัฒนาคนที่จะเข้าสู่ภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนและพัฒนาการเกษตรของประเทศ และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมให้แก่ทายาทเกษตรกร โดยส่งเสริมการรวมกันของเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มยุวเกษตรกร พัฒนาศักยภาพกลุ่มยุวเกษตรกรผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ปรับกิจกรรมให้ทันสมัยและตรงตามความต้องการของกลุ่มยุวเกษตรกร ตลอดจนได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นทิศทางในการพัฒนากิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร และได้ทำการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายยุวเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนายุวเกษตรกรให้เป็นบุคลากรภาคการเกษตรที่มีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพเกษตรเลี้ยงตนเองได้อย่างมั่นคงในอนาคต
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการพัฒนายุวเกษตรกรมาแล้ว 70 ปี ข้อมูล ณ ปัจจุบัน สามารถพัฒนากลุ่มยุวเกษตรได้แล้ว 4,754 กลุ่ม และยุวเกษตรกร จำนวน 79,059 คน และเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของยุวเกษตรกร และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลอง “วันยุวเกษตรกร โลก” ไปพร้อมๆกับประเทศสมาชิกที่มีการดำเนินงานยุวเกษตรกรทั่วโลก รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานยุวเกษตรกรของประเทศไทย จึงได้จัดงาน “วันยุวเกษตรกรโลก” (Global 4-H Day) ขึ้น ในวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม 7 ชั้น 5 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้แนวคิด 70 ปี ยุวเกษตรกรไทย ร่วมกำหนดอนาคตเกษตรไทยไปด้วยกัน Shaping the Future…Together โดยกรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรในปี 2565 ไว้ 5 แนวทาง ดังนี้
1) ส่งเสริมการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับยุวเกษตรกรอย่างมีศักยภาพ โดยสนับสนุนการเรียนรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ทักษะการทำงานเป็นทีมของกลุ่มยุวเกษตรกร และเสริมสร้างความเป็นผู้นำ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning by Doing)
2) ส่งเสริมกลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนากระบวนการบริหารจัดการกลุ่มยุวเกษตรกร การปฏิบัติงานของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และการประเมินผลกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ
3) สร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดประสานกัน สนับสนุนการเปิดโลกทัศน์ และต่อยอดให้ยุวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ระหว่างกัน อันนำไปสู่การพัฒนางานยุวเกษตรกรได้รอบด้านและทันต่อสถานการณ์
4) สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนายุวเกษตรกร โดยการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ ความเข้าใจในการดำเนินงานยุวเกษตรกรให้สามารถปฏิบัติงานขับเคลื่อนพัฒนางานยุวเกษตรกรไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ
5) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การพัฒนางานยุวเกษตรกรเชิงรุก เพื่อให้สาธารณชนรับรู้ เชื่อถือและเข้าใจที่ถูกต้องในกระบวนการพัฒนายุวเกษตรกร อันนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานที่ดีของชุมชนต่อไป
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานยุวเกษตรกร จาก 77 จังหวัด เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ ได้เข้าร่วมและรับชมกิจกรรม 70 ปี ยุวเกษตรกรไทย ในวันยุวเกษตรกรโลก ผ่านทางระบบ Zoom Cloud Meeting และประชาชนทั่วไปร่วมรับชม Facebook Live ผ่านทาง Facebook กรมส่งเสริมการเกษตร