กรมส่งเสริมการเกษตรยกระดับกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการเกษตรเบื้องต้น

นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร ในปี 2566 ให้สอดรับกับ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และภายใต้แนวคิด “Keep Going, Keep Growing” มุ่งมั่นพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร ให้มีความเข้มแข็ง ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นหลักตลาดนำการผลิต และนำนวัตกรรม เทคโนโลยี มาพัฒนาภาคการเกษตรสู่ยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรถือเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร และพัฒนาสู่การสร้างผู้ประกอบการเกษตร สมัยใหม่ที่จะช่วยในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตต่อเกษตรกรและผู้คนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนา ภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง รู้เท่าทัน สามารถปรับตัวพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่ากรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในปี 2566 ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสู่การเป็น Smart Group เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพด้านการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ตลาดในยุคปัจจุบัน ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อยกระดับเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตรเบื้องต้นที่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกัน พัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบระดับชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืน กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการพัฒนาศักยภาพให้แก่กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร  ระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุม 4/2 อาคาร 1 ชั้น 4  กรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรเบื้องต้นโดยการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนาทักษะการบริหาร จัดการธุรกิจเกษตรเพื่อการเป็นผู้ประกอบการเกษตรเบื้องต้นตลอดจนชี้แจงทำความเข้าใจในการ ดำเนินงานโครงการให้แก่เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยบุคคลเป้าหมายประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรระดับประเทศ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรและเคหกิจเกษตรระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับเขต ส่วนกลาง วิทยากร และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 260 คน