นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2566 กรมส่งเสริมการเกษตรมีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสาสมัครเกษตรในพื้นที่และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเฉพาะเกษตรหมู่บ้าน (กม.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ถือเป็นภาคีเครือข่ายการพัฒนา เป็นแกนหลักในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรในระดับชุมชน สามารถสนองนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลให้บรรลุตามเป้าประสงค์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกร และแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนและพัฒนางานอาสาสมัครเกษตรไว้ ดังนี้ 1) เกษตรหมู่บ้าน (กม.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานทั้งด้านเกษตร และบทบาทของอาสาสมัครเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) เกษตรหมู่บ้าน (กม.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ต้องได้รับการพัฒนาความเป็นผู้นำและมีการสร้างเครือข่ายการทำงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง 3) การขับเคลื่อนงานพัฒนาอาสาสมัครเกษตร ต้องใช้ระบบกลไกคณะกรรมการอาสาสมัครเกษตรเข้ามาขับเคลื่อนงาน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกระดับ 4) ต้องดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลอาสาสมัครเกษตร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบัน และ 5) ต้องขับเคลื่อนสนับสนุนให้เกิดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น ต่อการปฏิบัติงานของเกษตรหมู่บ้าน (กม.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.)
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดสัมมนาขับเคลื่อนการพัฒนางานอาสาสมัครเกษตรขึ้น ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานอาสาสมัครเกษตร ระดับจังหวัด เขต และส่วนกลาง จำนวน 110 คน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนงานอาสาสมัครเกษตรให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เสริมสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนางานอาสาสมัครเกษตรในทิศทางเดียวกัน พัฒนาความรู้ ทักษะ แนวคิด แลกเปลี่ยน ประสบการณ์งานอาสาสมัครเกษตร สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนางานอาสาสมัครเกษตรซึ่งถือเป็นงานจิตอาสา พร้อมจัดทำแผนพัฒนาอาสาสมัครเกษตรโดยใช้เครื่องมือ PDCA ตลอดจนสร้างเครือข่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานอาสาสมัครเกษตร และพัฒนาช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อสนับสนุนข้อมูลและแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน