กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาแอปพลิเคชันเกษตรแทรค (KASETTRACK) ยกระดับคุณภาพทุเรียนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่ากรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดตราดร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดำเนินการพัฒนา แอปพลิเคชัน “เกษตรแทรค” (KASETTRACK ) เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูลการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในภาคตะวันออก นำร่องในพื้นที่จังหวัดตราด เพื่อใช้ในการควบคุมการผลิตทุเรียน โดยมีเกษตรกรเข้าใช้งานแล้วกว่า 1,000 ราย ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานส่งออก โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยยกระดับผลผลิตทุเรียนคุณภาพ ปี 2566 ได้มากกว่า 25,000 ตัน และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกทุเรียนคุณภาพกว่า 3,000 ล้านบาท
สำหรับการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชัน “เกษตรแทรค”(KASETTRACK ) ในการบริหารจัดการและติดตามผลผลิตให้เป็นไปตามข้อกำหนดของการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) โดยเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจะบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูก รวมถึงเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อเป็นการยืนยันความแก่ของทุเรียนก่อนถึงวันตัดล่วงหน้า 3 วัน ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ลงพื้นที่สวนทุเรียนในจังหวัดตราด เพื่อติดตามระบบการบริหารจัดการทุเรียนส่งออกคุณภาพตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานจากสวนสู่ล้ง และได้มีการตัดทุเรียนชะนีลูกแรกและวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณ ถึงการเริ่มต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนปี 2566 แล้ว
ด้าน นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลในจังหวัดตราด ได้ทำการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ “แอปพลิเคชัน KASETTRACK” ให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานส่งออก รวมทั้งจังหวัดตราดยังมีนโยบายในการขยายผลการประยุกต์ใช้แอปพลิเคชัน KASETTRACK แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน เพื่อจัดเก็บชุดข้อมูลคาดการณ์ผลผลิตทั้งจังหวัด (City Data Platform) ด้านเกษตรอัจฉริยะของชาวสวนทุเรียนให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดตราด เพื่อให้สอดรับกับแผนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจังหวัดตราด และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (SMART CITY) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (SMART ECONOMY) เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ชาญฉลาด ผลิตทุเรียนคุณภาพ คุณธรรม และสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในภาคตะวันออก ได้ทำการบันทึกกิจกรรมการเพาะปลูกผ่านแอปพลิเคชัน KASETTRACK แล้วกว่า 1,000 ราย โดยคาดการณ์ว่า KASETTRACK จะช่วยยกระดับผลผลิตทุเรียนคุณภาพ ปี 2566 ได้มากกว่า 25,000 ตัน สร้างมูลค่าการส่งออกทุเรียนคุณภาพกว่า 3,000 ล้านบาท และเป็นการการันตีได้ว่า ”ทุเรียนไทยคุณภาพดี ทุเรียนตราดออกก่อน อ่อนไม่มี” โดยทาง depa จะขยายผลสู่ชาวสวนทุเรียนในภาคใต้ต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเชิญชวนเกษตรกรชาวสวนทุเรียนติดต่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่าน เพื่อรักษาสิทธิของท่านในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร องค์ความรู้และความช่วยเหลือต่างๆ จากกรมส่งเสริมการเกษตร
ด้าน นายวีรชัย บุญเกิด ประธานแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย ต.ท่ากุ่ม อ.เมือง จ.ตราด เกษตรกรผู้ใช้แอปพลิเคชันเกษตรแทรค (KASETTRACK) กล่าวว่า “เกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ต้องการใช้แอปฯ นี้ ต้องทำการลงทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ก่อน จากนั้นจะได้รับรหัสเข้าใช้แอป แต่หากมีการเปิดระบบอัตโนมัติไว้ก็สามารถเข้าใช้ได้เลย จากนั้นเกษตรผู้ใช้จะต้องทำการวาดภาพแปลงปลูก เพื่อระบุพิกัดที่ตั้งแปลงว่าแปลงปลูกอยู่จุดไหน ณ เส้นรุ้ง เส้นแวงที่เท่าไหร่ มีพื้นที่เท่าไหร่ โดยแอปพลิเคชันเกษตรแทรค ช่วยให้บันทึกข้อมูลและเรียกดูข้อมูลผ่านแอปฯ ได้สะดวกมากขึ้น ไม่ต้องจดข้อมูลลงสมุดบันทึก ซึ่งสิ้นเปลืองกระดาษจำนวนมาก รวมทั้งตัวของแอปฯ ยังสามารถการันตีได้ว่าข้อมูล GAP ของเกษตรกรได้ถูกบันทึกไว้หมดแล้ว ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (กูเกิลไดรฟ์) โดยมีแอดมินของแอป ฯ คือ depa ช่วยแยกจัดเก็บข้อมูลไว้ให้ เกษตรกรจะสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังในปีที่ผ่าน ๆ มาได้ว่าแต่ละห้วงเวลาได้ใช้วัสดุทางการเกษตรอะไรไปบ้าง และควรดูแลทุเรียนอย่างไร เช่น การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย และนำมาเปรียบเทียบทำเป็นข้อมูลทางสถิติได้
นายวีรชัย ยังชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเกษตรกรที่ใช้แอปพลิเคชันเกษตรแทรค กับไม่ใช้แอปฯ นี้ว่า เกษตรกรที่ไม่ใช้แอปฯนี้ จะไม่สามารถระบุที่มาของทุเรียนได้ นอกจากจะมีการลงพื้นที่มาตรวจดูจริงที่แปลง เนื่องจากเพียงแค่สมุดบันทึกเลข GAP ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของแปลงได้ แต่หากใช้แพลตฟอร์มเกษตรแทรค จะสามารถบันทึกรูปภาพ รายละเอียดกิจกรรมการทำสวนในแต่ละวันได้ เช่น พ่นสารเคมีอะไร ใส่ปุ๋ยอะไร รดน้ำกี่นาที ข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกเก็บไว้ในแอป นอกจากนั้น แอปฯ ยังช่วยให้ชาวสวนทุเรียนสามารถคำนวณเรื่องรายรับรายจ่าย ซึ่งเกษตรกรสามารถนำมาวางแผนการลดต้นทุน การผลิตได้ต่อไป
“แอปฯ นี้ทำให้ผลผลิตของเรามีมูลค่าเพิ่ม เพราะมีที่มาที่ไป มีความพิถีพิถันในการผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นการการันตีทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม เพิ่มราคาและความน่าเชื่อถือ ทำให้เราสามารถกำหนดราคาเองได้” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต เพราะทุเรียนที่ได้จากสวนนี้ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าทุเรียนมีที่มาจากสวนใด พื้นที่ใด อย่างทุเรียนจากพื้นที่ภาคตะวันออก ที่ทุเรียนมีความอร่อย และเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศไทย นายวีรชัย กล่าว
สำหรับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่สนใจ สามารถสมัครใช้แอปพลิเคชันเกษตรแทรค (KASETTRACK) โดยติดต่อสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 09-8659-6855 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด