นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ จัดอบรมโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ระดับผู้ประสานงานในพื้นที่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อปฏิบัติงานร่วมกับอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในส่วนภูมิภาค โดยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในพื้นที่ และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) จะทำหน้าที่เป็นพนักงานแจงนับ เพื่อจะดำเนินการจัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ.2566 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ระหว่างเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2566
ทั้งนี้ การอบรมโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ระดับผู้ประสานงานในพื้นที่ ได้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ เทคนิค และวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลสำมะโนการเกษตรภาคสนาม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรและอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในภูมิภาคได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอน เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ข้อมูลที่เป็นเอกภาพและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยในการอบรมฯ มีผู้ตรวจราชการกรมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้อำนวยการกองสถิติเศรษฐกิจ สถิติจังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และผู้เข้าร่วมอบรมจากทั่วประเทศกว่า 1,900 คน เข้าร่วมการอบรมฯ ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการ (OR) ชั้น 2 กรมส่งเสริมการเกษตร และผ่านระบบการประชุมออนไลน์ Zoom meeting
ด้าน นายพินิจ กัลยาณมณีกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยได้ดำเนินการจัดทำสำมะโนประชากรเกษตร ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2493 โดยในครั้งนี้จะเป็นการดำเนินการครั้งที่ 7 ตามข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ให้ทุกประเทศจัดทำสำมะโนการเกษตรทุก 10 ปี เป็นอย่างน้อย เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลด้านสถิติการเกษตรที่สำคัญ มีความจำเป็นและเพียงพอสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม เฝ้าระวัง และวางแผนพัฒนาการเกษตรและประชากรในภาคการเกษตรของประเทศได้อย่างเหมาะสม สำนักงานสถิติแห่งชาติจึงได้ดำเนินการเก็บข้อมูลร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และอาสาสมัครเกษตรในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลด้านเกษตรได้อย่างทั่วถึง ได้รับข้อมูลที่มีความถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งเสริม พัฒนา และขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศต่อไปในอนาคต