นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ไม้ผลเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรไทยเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการปลูกกระจายอยู่ทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 57 ชนิด แต่มีการเน้นหนักการพัฒนาและแก้ไขปัญหาตามแนวทางการพัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2565 – 2570 ในผลไม้เศรษฐกิจหลัก จำนวน 7 ชนิด ประกอบด้วยผลไม้ที่มีศักยภาพในการส่งออก จำนวน 4 ชนิด ได้แก่ มะม่วง ทุเรียน มังคุด และลำไย และผลไม้ที่มีศักยภาพในการบริโภคภายในประเทศ จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ ในส่วนภาคตะวันออกของไทยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด เป็นแหล่งผลิตไม้ผลที่สำคัญ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ซึ่งผลจากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 เพื่อบริหารจัดการผลผลิตไม้ผลที่สำคัญ 4 ชนิด ให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ พร้อมให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2566 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนในกรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา มอบหมายให้แต่ละจังหวัดประสานงานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้จังหวัดวางแผนการบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง ทั้งในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2565 – 2570 และในเชิงปริมาณด้วยการจัดสมดุลระหว่างอุปสงค์ และอุปทานโดยใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตไม้ผลภาคตะวันออก
ด้านสถานการณ์การผลิตไม้ผลภาคตะวันออก จากข้อมูลจากการประชุมจัดทำข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคตะวันออกและปรับแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 พบว่า พื้นที่ปลูกไม้ผล 4 ชนิด มีพื้นที่ยืนต้นรวม 907,542 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 16,839 ไร่ หรือร้อยละ 1.89 เนื้อที่ให้ผลรวม 656,626 ไร่ ลดลงจากปี 2565 จำนวน 27,791 ไร่ หรือร้อยละ 4.06 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,604 กิโลกรัม ลดลง 241 กิโลกรัม หรือร้อยละ 13.06 ซึ่งคาดว่าตลอดฤดูกาลผลิตจะมีปริมาณผลผลิตรวม 1,053,328 ตัน ลดลงจากปี 2565 จำนวน 209,571 ตัน หรือร้อยละ 16.59 ซึ่งปริมาณผลผลิตที่ลดลงเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนตกชุกช่วงปลายปีต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2566 สลับกับอากาศหนาวเย็นยาวนาน ไม่เอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผลของไม้ผล ในส่วนของทุเรียนในระยะดอก รุ่น 1 และ 2 ถูกฝนชะดอก จึงไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ ประกอบกับได้รับผลกระทบจากลมพายุเป็นช่วง ๆ ตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงมีนาคม 2566 ทำให้ดอกและลูกร่วงเสียหาย แต่คาดว่าผลผลิตจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ไม้ผลเศรษฐกิจอื่น ได้แก่ มังคุด เงาะ และลองกอง ทั้งเนื้อที่ปลูกและผลผลิตลดลง เนื่องจากผลตอบแทนต่ำกว่า ราคาไม่แน่นอน และหาแรงงานช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตยาก
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการบริหารจัดการผลผลิตในฤดูกาลผลิตปี 2566 จึงมีการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออกโดยแบ่งออกเป็น 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ (1) การบริโภคผลสดภายในประเทศ ร้อยละ 28.38 แบ่งย่อยเป็น 9 ช่องทาง ได้แก่ การจำหน่ายในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร การจำหน่ายผ่าน Modern trade การจำหน่ายผ่านกลไกสหกรณ์ การจำหน่ายตรงกับผู้บริโภคและช่องทางออนไลน์ การจัดงานประชาสัมพันธ์ในและนอกแหล่งผลิต การจำหน่ายผ่านหน่วยงานราชการ การจำหน่ายผ่านตลาดกลางค้าขายผลไม้ภายในจังหวัด/รถเร่/ตลาดขายผลไม้ริมทาง บริโภคภายในครัวเรือน และช่องทางอื่น ๆ (2) การใช้เป็นวัตถุดิบในแปรรูป ร้อยละ 6.41 ได้แก่ การแปรรูปมูลค่าสูง เช่น แช่แข็ง ฟรีซดราย เป็นต้น หรือแปรรูปเพื่อถนอมอาหาร เช่น การกวน การทอด การคั้นน้ำ เป็นต้น (3) การจำหน่ายเพื่อการส่งออก ร้อยละ 65.21 มีประเทศส่งออกที่สำคัญ คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร ได้รายงานปริมาณการส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 22,650 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือราว ๆ 4.07 แสนตัน
******************************
กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว : พฤษภาคม 2566
กลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล