กรมส่งเสริมการเกษตรหนุนเกษตรกรปลูกไผ่ทำหน่อไม้นอกฤดู…สร้างรายได้งาม

กรมส่งเสริมการเกษตร สนับสนุนเกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกไผ่ตงลืมแล้งเพื่อทำหน่อไม้นอกฤดู หลังตลาดพื้นที่ภาคอีสานและเหนือต้องการจำนวนมาก นำไปประกอบอาหารและแปรรูป ราคาไม่ต่ำกว่า 40-80 บาท/กิโลกรัม หรือเฉลี่ยไร่ละกว่า 5 หมื่นบาท

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านส่งเสริมการผลิต กล่าวถึงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปปลูกไผ่เพื่อสร้างรายได้จากการทำหน่อไม้นอกฤดูว่า ไผ่ในประเทศไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ไผ่ตง ไผ่บงใหญ่ ไผ่ซางหม่น ไผ่สีสุก ไผ่รวก ไผ่ไร่ และไผ่เลี้ยง ถือเป็นพืชอเนกประสงค์  เนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของไผ่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น หน่อไม้ นำมาบริโภคได้หลากหลายเมนู หรือแปรรูปเป็นหน่อไม้ปี๊บ หรือหน่อไม้ดอง ลำต้น นำไปใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำนั่งร้าน เครื่องใช้ในครัวเรือน หรือทำเยื่อกระดาษ ใบ ใช้ห่อขนม ทำหมวก และทำหลังคา ส่วนกิ่งและแขนง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และนำมาเป็นส่วนขยายพันธุ์

ไผ่ที่ปลูก ให้หน่อได้ดี และนิยมทำหน่อนอกฤดูคือ ไผ่ตงลืมแล้ง เนื่องจากไม่มีหนาม มีลำต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ให้หน่อโต คุณภาพดี และให้ผลผลิตมากกว่าไผ่สายพันธุ์อื่น ๆ หลายเท่าตัว หากปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม มีการบริหารจัดการที่ดี จะให้ผลผลิตสูง 30-50 กิโลกรัม/กอ/ปี เมื่อทำหน่อไม้นอกฤดู เกษตรกรสามารถขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่า 40-80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งการผลิตหน่อไม้นอกฤดูยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน มีความต้องการสูงสุด รองลงมาคือภาคเหนือ นอกจากนี้ไผ่ตงลืมแล้ง ยังทนทานต่อปัญหาน้ำท่วมได้ดี

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า หากเกษตรกรสนใจปลูก ควรปลูกไผ่ตงลืมแล้งก่อนเดือนมิถุนายน เพราะต้นไผ่จะมีอายุมากพอที่จะทำหน่อนอกฤดูได้ในปีถัดไป การไว้ลำแม่เพื่อจะทำหน่อนอกฤดูควรไว้หน่อช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด ลำต้นแม่จะไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป หลังจากนั้นให้ตัดแต่งกิ่งภายในเดือนพฤศจิกายน โดยเลือกลำแม่ไว้เพียงกอละ 1-2 ลำ เท่านั้น ลำที่มีขนาดเหมาะสมคือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 1.5-2 นิ้ว ถ้ามีหน่อออกมาหลังจากนี้ให้คอยตัดออกทั้งหมด อย่าไว้ลำอีกเด็ดขาด ส่วนเทคนิคการปลูกไผ่ตงลืมแล้ง ควรปลูกในพื้นที่ดินร่วนปนดินเหนียว ขุดหลุม กว้าง – ยาว ประมาณ 1 เมตร ลึก 0.5 เมตร นำหน้าดิน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และอินทรียวัตถุเติมลงไปให้เต็มแล้วค่อยปลูก หากปลูกในพื้นที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำ ดินจะเก็บความชื้นได้ดี และให้ผลผลิตนอกฤดูได้ดีกว่าแหล่งปลูกในพื้นที่ดอน เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกไผ่ตงลืมแล้ง เพราะต้องการหน่อเป็นหลัก จึงสามารถปลูกได้ในระยะประชิด หรือปลูกในระยะห่าง 2×3 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น เมื่อปลูกไผ่ครั้งแรกควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก จำนวน 2 กิโลกรัม/กอ และอีก 4 เดือนต่อมา ให้ใส่เพิ่มเป็น 4 กิโลกรัม/กอ เพื่อเร่งการแทงหน่อและให้หน่อไม้ที่สมบูรณ์และมีขนาดใหญ่

เมื่อเข้าสู่ต้นเดือนมกราคม ควรให้ปุ๋ยและคลุมฟางที่โคนกอ และเริ่มให้น้ำประมาณปลายเดือนมกราคม ช่วงแรกควรให้น้ำบ่อยและให้ดินเปียกโชก พออากาศเริ่มอุ่นไผ่จะเริ่มแทงหน่อ ควรให้น้ำน้อยลง และเริ่มเก็บหน่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม หลังจากตัดหน่อไปได้สัก 2-3 หน่อ/กอ ควรใส่ปุ๋ยคอกอีกรอบ โดยไผ่ 1 กอ จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 6-10 กิโลกรัม ต่อหนึ่งรอบการผลิตนอกฤดูกาล ราคาที่ขายได้ 40-80 บาท/กิโลกรัม หรือขั้นต่ำประมาณ 250 บาท/กอ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยไร่ละ 50,000 บาทขึ้นไป โดยทั่วไปพื้นที่ปลูกไผ่ 1 ไร่ ระยะห่าง 2×3 เมตร จะได้ประมาณ 270 กอ หากปลูก 4 ไร่ จะได้ประมาณ 1,060 กอ จะเก็บหน่อไม้ได้ประมาณวันละ 40 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 40-80 บาท ทำให้มีรายได้วันละ 1,600-3,200 บาท และเมื่อเกษตรกรปลูกพืชผักอื่นๆ เสริม เช่น ชะอม ใบย่านาง ใบแมงลัก เห็ด และมะละกอ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก เพราะพืชผักพื้นบ้านเหล่านี้ ถือเป็นส่วนประกอบในเมนูอาหารที่แปรรูปจากหน่อไม้ ซึ่งสินค้าทุกชนิดขายได้ดี และเป็นที่ต้องการของตลาด”รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร มีศูนย์ขยายพันธุ์พืช จำนวน 10 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ตรัง นครราชสีมา นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ พิษณุโลก มหาสารคาม ลำพูน สุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชให้บริการในรูปแบบ 4 สายการผลิต ได้แก่ สายการผลิตต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยศูนย์ขยายพันธุ์พืช ที่เปิดให้ความรู้การเพาะพันธุ์ไผ่ (ท่อนพันธุ์) มีจำนวน 4 ศูนย์ ประกอบด้วยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3จังหวัดนครราชสีมา ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปสามารถใช้บริการได้ ณ จุดให้บริการพืชพันธุ์ Doae โดยสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่เลขที่ 85 ถนนเกษตร ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครรราชสีมา โทร 044-379617

ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 4 จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่เลขที่ 58 หมู่ 5 ตำบลนาบอน อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช โทร 075-845196

ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5 จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งอยู่เลขที่ 83 หมู่ 3 บ้านตาเก็ม ตำบลเมืองยาง อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์ โทร 044-666422

ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก ตั้งอยู่เลขที่ 99/1 หมู่ 5 บ้านบางทราย ตำบลงิ้วงาม อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โทร 055-906220