กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์ผลป้องกันแก้ไขทุเรียนอ่อนภาคตะวันออกได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ เตรียมส่งต่อโมเดลชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัดสู่ภาคใต้

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนจังหวัดในภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และภาคเอกชน ในการร่วมกันผลักดันการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) อย่างเข้มข้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่นที่ดีต่อทุเรียนไทยว่า เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน โดยในช่วงสองเดือนแรก พบว่า มียอดการส่งออกสูงถึง 4.7 แสนตัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ทุเรียนภาคตะวันออกใกล้จะสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตแล้ว โดยในปีนี้ได้ประมาณการผลผลิตไว้ที่ 782,942 ตัน เก็บเกี่ยวแล้ว 612,552.56 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 78.24 ราคาผลผลิตเกรด A อยู่ที่ 186.67 บาท/กิโลกรัม (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2565) โดยคาดว่าจะเก็บเกี่ยวครบร้อยเปอร์เซ็นต์ในเดือนมิถุนายนนี้

 กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตทุเรียน ปี 2566 ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันออกนั้น มีการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนและวันเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2566 ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ระยอง และจังหวัดตราด ในแต่ละพันธุ์ ได้แก่ 1) พันธุ์กระดุม และพันธุ์พวงมณี วันที่ 10 มีนาคม 2566 2) พันธุ์ชะนี วันที่ 20 มีนาคม 2566 และ 3) พันธุ์หมอนทอง วันที่ 15 เมษายน 2566โดยกำหนดให้มีมาตรการควบคุมคุณภาพผลผลิตที่แหล่งผลิต (สวน) เป็นกลไกในการสนับสนุนการปฏิบัติในการควบคุมทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อให้เกษตรกร มือตัด แผงรับซื้อ ผู้ประกอบการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการตัด การซื้อขายทุเรียน และยกระดับคุณภาพทุเรียน โดยได้ดำเนินการ 1) กำหนดจุดบริการตรวจก่อนตัด 2) เกษตรกรและนักตัดทุเรียน ต้องเก็บตัวอย่างทุเรียนในส่วนของตนเอง หรือสวนที่จะตัดและนำไปตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งก่อนตัดอย่างน้อย 3 วัน ณ จุดบริการตรวจก่อนตัด 3) จุดบริการตรวจก่อนตัด ต้องออกหนังสือรับรองให้เกษตรกร 4) สถานประกอบการ (ล้ง) ต้องสื่อสารกับเกษตรกรและมือตัดทุเรียนให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด 5) ชุดปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพทุเรียน สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร ต้องเรียกดูหนังสือรับรองตรวจก่อนตัด 6) แผงรับซื้อทุเรียนในตลาดค้าส่ง ต้องขอหนังสือรับรองผลการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้ง เพื่อแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่มาตรวจแผงรับซื้อ นอกจากนี้ยังมีการขึ้นทะเบียนนักคัดนักตัดทุเรียน เป็นกลไกสำคัญในการติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุมคุณภาพ ยกระดับมาตรฐานนักคัดนักตัดทุเรียน โดยผู้ทำหน้าที่เก็บเกี่ยวทุเรียน ทั้งที่เป็นเกษตรกร นักคัดนักตัดอิสระ นักคัดนักตัดของ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) ตลอดจนผู้มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนเป็นนักคัดนักตัดทุเรียน จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ (ชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัด) ภาคตะวันออกทั้ง 3 จังหวัด ระยอง จันทบุรี ตราด ระหว่างเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2566 พบว่ามีเกษตรกรมารับบริการรวม 10,760 ราย ตัวอย่างส่งตรวจ 14,446 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 9,258 ไม่ผ่านเกณฑ์ 5,183 สำหรับผลการดำเนินการสุ่มตรวจความสุกแก่ของทุเรียนในโรงคัดบรรจุ 528 แห่ง สุ่มตรวจทั้งสิ้น 4,998 ตัวอย่าง ผ่านเกณฑ์ 4,683 คิดเป็นร้อยละ 97.7 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชี้ชัดว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐเป็นอย่างดี จึงพร้อมส่งต่อโมเดลชุดปฏิบัติการตรวจก่อนตัดนี้ต่อไปยังภาคใต้ ซึ่งผลผลิตในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไปจนถึงเดือนตุลาคม 2566 โดยคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตออกมากสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 โดยทุเรียนภาคใต้ปีนี้ มีเนื้อที่ยืนต้น 726,369 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 7.27 เนื้อที่ให้ผล 547,225 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 คาดว่าจะมีผลผลิตรวม 667,338 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.73 และมีผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลเฉลี่ย 1,219 กิโลกรัม/ไร่

******************************

กรมส่งเสริมการเกษตร ข่าว : มิถุนายน 2566

กลุ่มส่งเสริมไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร : ข้อมูล